xs
xsm
sm
md
lg

กบร.เช็กระบบเซฟตี้สนามบิน ปิดจุดเสี่ยงอัปเกรดมาตรฐานเตรียมรับ ICAO ตรวจ USAP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กบร.ปรับปรุงแผนรักษาความปลอดภัยชาติ เช็กระบบเซฟตี้สนามบิน เตรียมพร้อม ICAO ตรวจมาตรฐาน USAP เดือน ก.ค.นี้ มั่นใจปิดจุดอ่อน จุดเสี่ยงได้หมด สั่งเพิ่มมาตรฐาน เครื่องมือตรวจสอบผู้โดยสารเน้นเทคโนโลยีทันสมัย ขยายเวลา ยกเว้นค่าแลนดิ้ง 5 สนามบินออกไปอีก 5 ปีจูงใจสายการบิน

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ได้หารือถึงแผนรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ (NATIONAL CIVIL AVIATION SECURITY PROGRAMME - NCASP) ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2559 โดยมีการปรับปรุงให้มีรายละเอียดครบถ้วน สอดคล้องกับแผนล่าสุดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และปิดจุดอ่อน ประเด็นที่เป็นความเสี่ยงทั้งหมด รองรับการตรวจสอบท่าอากาศยานของไทย โครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัย (Universal Security Audit Programme : USAP) ของ ICAO ในเดือน ก.ค. 2560

ทั้งนี้ ประเด็นส่วนใหญ่ที่แก้ไขเป็นรายละเอียด ขยายข้อความต่างๆ เพื่อให้มีความครบถ้วนมากที่สุด เช่น เรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ภายในสนามบิน เครื่องตรวจสอบผู้โดยสาร เครื่องเอกซเรย์ต่างๆ จะต้องปรับให้รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้มากที่สุด และที่ผ่านมา กพท.ได้ไปตรวจสอบแล้วและพบข้อบกพร่องของสนามบินบางแห่ง ซึ่งได้ให้แก้ไขแล้ว เช่น พื้นที่ควบคุมมีเจ้าหน้าที่ดูแลไม่ครบ เป็นต้น พบว่าได้ดำเนินการแก้ไขได้ครบถ้วน ปิดจุดเสี่ยงได้หมด

โดยขณะนี้มีความพร้อมเกิน 80% แล้ว และภายในสัปดาห์นี้จะส่งข้อมูลพื้นฐานด้านความปลอดภัยทั้งหมดของไทยไปให้ ICAO ตรวจสอบก่อนล่วงหน้าประมาณ 2 เดือน ก่อนมาตรวจสอบจริง เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ปัจจุบันด้านการบินของประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลเดิมที่ ICAO ได้เคยตรวจสอบครั้งล่าสุดเมื่อปี 2555

“ICAO มีคำถามประมาณ 480 ข้อที่ต้องเตรียมข้อมูลไว้ตอบ ซึ่ง ICAO จะเลือกถามในหัวข้อที่ยังเห็นว่ามีความเสี่ยง โดยดูจากแผนที่จะส่งไปให้ก่อน คงไม่ได้ถามหมดทุกข้อ โดย ICAO จะดูแผนชาติ ซึ่งเป็นเรื่องกฎระเบียบมาตรฐานของภาครัฐ ที่กำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยของสนามบินมีอะไรบ้าง สายการบินต้องมีอะไรบ้าง คลังสินค้า วิทยุการบินต้องมีอะไรบ้าง และผู้เกี่ยวข้องด้านการบินนั้นๆ นำแผนชาติไปเขียนเป็นแผนของตัวเอง และส่งให้ กพท.ตรวจสอบ ICAO จะดูทั้งหมดว่าแผนชาติเป็นอย่างไร ผู้ประกอบการนำไปปฏิบัติได้แค่ไหน และหากไม่สามารถดำเนินการตามแผนชาติ กพท.จะกำกับดูแลอย่างไร”

***ขยายเวลา ยกเว้นค่าแลนดิ้ง 5 สนามบินออกไปอีก 5 ปี จูงใจสายการบิน

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบร.ได้เห็นชอบขยายเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการขึ้น-ลงอากาศยาน (Landing Fee) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานนครราชสีมา ท่าอากาศยานปัตตานี ท่าอากาศยานเพชรบูรณ์ ท่าอากาศยานตาก และท่าอากาศยานแม่สะเรียง เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560-31 พฤษภาคม 2565 เพื่อเป็นโปรโมชันจูใจสายการบินทำการขึ้นลงมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น