ขสมก.ตอกฝาโลง เบสท์รินฯ เลหลังขายรถ NGV ต่อรายอื่นเพื่อร่วมประมูลรอบใหม่ยาก เหตุอาจผิด TOR เพราะผ่านการตีทะเบียนแล้ว อาจกลายเป็นรถมือสอง “สมศักดิ์” เชื่อข้อพิพาทกรมศุลฯ ยืดเยื้อไม่จบง่ายๆ เหตุค่าปรับสูงกว่า 1 พันล้าน ยันประมูลรอบใหม่ใช้ TOR เดิม มั่นใจดีอยู่แล้ว ปัญหาที่ผ่านมาเบสท์รินฯ ยื่นเงื่อนไขล็อกตัวเอง หวังลดค่าภาษี จับตารื้อบอร์ด ขสมก.เซ่นปัญหาเมล์ NGV ตั้งข้อสงสัย “สุระชัย” ทำงานคุ้มค่าจ้างหรือไม่
นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ในการประมูลจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ NGV พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษา จำนวน 489 คัน ครั้งใหม่นี้ ใช้กรอบเงื่อนไข TOR เดิม ราคากลางเดิมที่ 4,021,710,819.50 บาท โดยเป็นราคากลางตัวรถที่ 1,735,550,000 บาท (คันละ 3,549,182 บาท) วงเงินจ้างซ่อมบำรุงรักษา ระยะเวลา 10 ปี งบประมาณ 2,286,160,819.50 บาท แบ่งเป็นปีที่ 1-5 เฉลี่ยไม่เกิน 925.91 บาท/คัน/วัน เป็นเงิน 826,305,231.75 บาท ปีที่ 6-10 เฉลี่ยไม่เกิน1,635.83 บาท/คัน/วัน เป็นเงิน 1,459,855,587.75 บาท
ส่วนเงื่อนไขเรื่องที่ผู้ชนะประมูลต้องนำรถไปตรวจสภาพ ติด GPS จดทะเบียน ทดสอบคุณภาพ เป็นขั้นตอนตามTOR เดิม ไม่มีการปรับแก้ใดๆ ซึ่งเอกชนต้องดำเนินการให้เรียบร้อยก่อน ขสมก.จึงจะตรวจรับรถ มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหา ส่วนราคากลางเฉลี่ยคันละ 3.549 ล้านบาทนั้นเหมาะสม แม้ว่าจะนำเข้ารถซึ่งต้องเสียภาษีนำเข้า 40% เพราะได้คำนวณรวมไว้อยู่แล้ว ทั้งนี้ เชื่อว่ารถ 489 คันนี้คงจะต้องนำเข้าทั้งหมดเพื่อส่งมอบให้ทัน 90 วันหลังลงนามสัญญา
สำหรับรถที่บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด นำเข้ามาแล้วนำไปขายต่อเอกชนรายอื่นและเอกชนดังกล่าวนำยื่นประมูลครั้งใหม่ด้วยจะได้หรือไม่นั้น นายสมศักดิ์กล่าวว่า ต้องพิจารณาหลายประเด็น ตั้งแต่รถดังกล่าวเบสท์รินฯ ได้ชำระภาษี หรือหมดภาระข้อพิพาทกับกรมศุลกากรแล้วหรือไม่ และหากจะส่งมอบให้ ขสมก.ต้องดูว่ารถดังกล่าวเป็นรถใหม่หรือไม่ เพราะ TOR กำหนดว่ารถเมล์ NGV 489 คันจะต้องเป็นรถใหม่ ตรงนี้คงต้องให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) มาร่วมตรวจสอบ เช่น มีการเพิกถอนทะเบียนเดิมแล้วหรือไม่ ยอมรับว่าต้องตีความว่าเมื่อมีการจดทะเบียนไปแล้วแม้มีถอนทะเบียนรถดังกล่าวจะถือเป็นรถมือสองหรือไม่ ซึ่งหากใช่ TOR ต้องเป็นรถใหม่เท่านั้น ขสมก.รับมอบไม่ได้
ทั้งนี้ ข้อพิพาทเรื่องรถของเบสท์รินฯ กับกรมศุลฯ ไม่รู้ว่าจะใช้สิ้นสุดเมื่อใด เนื่องจากหากต้องนำรถที่ถูกอายัดออกมาหมดจะต้องชำระค่าปรับและภาษีคันละประมาณ 2.2 ล้านบาท และหากจะสู้คดีให้ถึงที่สุดอาจจะต้องชำระเงินรวมถึง 1,600 ล้านบาท ซึ่งน่าจะยังยืดเยื้ออีกนาน และคงไม่ทันที่จะนำมาส่งมอบในเดือน ต.ค.แน่นอน
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ยังยืนยันว่า TOR ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเงื่อนไขให้กรรมการตรวจรับเดินทางไปตรวจสอบโรงงานและกระบวนการผลิตในสถานที่จริง เพราะแหล่งผลิตไม่ได้เป็นสาระสำคัญ TOR เปิดกว้างให้ผลิตในประเทศหรือนำเข้าได้ โดยขอให้ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องแจ้งชื่อโรงงานที่ใช้ในการประกอบรถโดยสารพร้อมแนบสำเนาหนังสือใบรับรองมาตรฐาน ISO 9001 เท่านั้น ปัญหาที่ผ่านมาเพราะทางเบสท์รินฯ เสนอเงื่อนไขรายละเอียด ผลิตที่จีน ประกอบในมาเลเซีย และเขียนไว้ในสัญญา ที่เป็นเงื่อนไขล็อกตัวเอง เพื่อต้องการนำไปขอยกเว้นภาษีนำเข้า 40% ซึ่งถูกกรมศุลฯ ตรวจสอบว่าไม่ถูกต้อง
***จับตารื้อบอร์ด ขสมก.เซ่นปัญหาเมล์ NGV-สงสัย “สุระชัย” ทำงานคุ้มค่าจ้างหรือไม่
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการเสนอเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก.ชุดใหม่มายังกระทรวงคมนาคม เนื่องจากในเดือน ก.ค. 60 พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ประธานจะครบวาระ 3 ปี ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่าอาจจะมีการปรับเปลี่ยนประธานและบอร์ดชุดใหม่หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. ไปปฏิบัติหน้าที่ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 60 และตั้งนายสมศักดิ์ ห่มม่วง รักษาการ ผอ.ขสมก.เพื่อแก้ปัญหารถเมล์ NGV จนมีการยกเลิกสัญญากับเบสท์รินฯ ซึ่งมองได้ว่าทั้งบอร์ด ขสมก. และนายสุระชัยไม่แก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว รวมถึงกรณีที่นายสุระชัย ซึ่งผ่านการสรรหาและมีสัญญาจ้าง ขณะนี้ไม่สามารถทำงานได้ตามสัญญายังเหมาะสมหรือไม่
นายสมศักดิ์ชี้แจงว่า ได้ทำหนังสือหารือไปยังกรมบัญชีกลาง กรณีการจ่ายค่าตอบแทนให้นายสุระชัย ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ทำเรื่องหารือไปที่ สคร. ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับ ก.พ.ร.ด้วย โดยขณะนี้ยังไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนให้นายสุระชัยจนกว่าจะมีความชัดเจน ขณะที่การประเมินผลการทำงานตามสัญญาจ้างรอบต่อไปจะเป็นช่วง เม.ย. 60-ก.ย. 60 ซึ่งไม่ทราบว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเรื่องการปฏิบัติหน้าที่สำนักนายกฯ เป็นอย่างอื่นอีกหรือไม่