“คมนาคม” เพิ่มมาตรการแก้จุดตัดรถไฟ กำจัดทางลักผ่านเสนอทางตัดใหม่ ต้องมีแผนปิดจุดเก่ารัศมี 4 กม. พร้อมมอบเทศบาลแสนสุข ศึกษาผุดทางลอดหรือสะพานข้ามจุดตัดรถไฟ-ถ.แสนสุข-บางพระ เหตุปริมาณจราจรเพิ่มเกินขีดเครื่องกั้นอัตโนมัติ เผยสถิติอุบัติเหตุจุดตัดรถไฟลดลงมาก “อาคม” สั่งใช้มาตรการเปิดไฟ-เปิดหวูดตลอดปี
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการขออนุญาตและการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้กรมโยธาธิการและผังเมือง จ.สมุทรสาคร ดำเนินการก่อสร้างทางตัดผ่านทางรถไฟ สายวงเวียนใหญ่-มหาชัย บริเวณ กม.50+592 ถนนผังเมืองสาย ง13 บรรจบถนนเดิมบาง จ.สมุทรสาคร หลังจากพิจารณาเหตุผลและความจำเป็น พร้อมทั้งให้พิจารณาปรับลดจุดตัดที่เป็นทางลักผ่านในแนวเส้นทางให้ลดลงด้วย โดยทางเทศบาลจะก่อสร้างโรคัลโรดคู่ขนานทางรถไฟเชื่อมกับถนนใหม่ เพื่อใช้จุดตัดที่ก่อสร้างซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่าใช้ทางลักผ่านเดิม โดยจากนี้หน่วยงานที่จะเสนอจุดตัดทางรถไฟนั้นจะต้องพิจารณาแผนลดจุดตัดทางลักผ่านที่มีอยู่ในแนวเส้นทางด้วย อย่างน้อยด้านละ 4 กม.เพื่อลดจุดลักผ่าน
นอกจากนี้ยังมอบหมายให้เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี ศึกษาเพื่อก่อสร้างจุดตัดรถไฟสายตะวันออก ตัดกับทางหลวง 3144 (แสนสุข-บางพระ จ.ชลบุรี) เป็นสะพานข้ามหรือทางลอดรถไฟ เพื่อรองรับปริมาณจราจรในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันจุดตัดดังกล่าวมีรถไฟผ่าน 40 ขบวน/วัน มีปริมาณรถ 11,000 คัน/วัน คิดเป็นการเคลื่อนผ่านจุดตัดดังกล่าวประมาณ 400,000 เที่ยว/วัน ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการใช้ระบบเครื่องกั้น และอนาคตคาดว่าขนส่งสินค้าทางรถไฟจากท่าเรือแหลมฉบัง-ไอซีดี ลาดกระบังจะเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่า ขณะที่การพัฒนาศูนย์ขนถ่ายสินค้าทางรางของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ซึ่งจะรองรับตู้สินค้าเพิ่มจาก 4 แสนตู้เป็น 1 ล้านและ 2 ล้านตู้/ปีตามลำดับ ส่วนระยะแรกให้เทศบาลดำเนินการติดตั้งเครื่องหมายจราจร ป้ายเตือนที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในจุดตัดหลังจากที่ได้มีการขยายผิวจราจรช่วงดังกล่าวจาก 2 เป็น 4 ช่องจราจรมาจนถึงบริเวณจุดตัดรถไฟแล้ว ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้า กรณีกรมทางหลวงชนบท จ.นครราชสีมา ขอยกเลิกทางผ่านยกระดับข้ามทางรถไฟที่สถานีหนองพวง ชุมทางบัวใหญ่ กม.361โดยขออนุญาตเปิดทางลักผ่านที่ กม.362 ให้เป็นทางตัดผ่านที่ถูกต้องแทน
ทั้งนี้ จากการสำรวจล่าสุดมีจุดตัดรถไฟกับถนนทั้งหมด 2,657 จุด โดยเป็นทางลอดหรือสะพานข้าม จำนวน 270 แห่ง, เป็นจุดตัดที่ใช้เครื่องกั้นอัตโนมัติจำนวน 1,246 แห่ง, จุดตัดที่ได้เปลี่ยนจากป้ายจราจรเป็นระบบเครื่องกั้นอัตโนมัติจำนวน 465 แห่ง ส่วนทางลักผ่านที่ได้ดำเนินการตามมาตรการ 676 แห่ง แบ่งเป็นจุดที่มีป้ายชะลอความเร็วและสัญญาณไฟกะพริบ 516 แห่ง เป็นระบบเซ็นเซอร์ 257 แห่ง ขณะที่ทางลอดและสะพานข้ามที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและเสนอของบประมาณอีก 123 แห่ง เป็นของกรมทางหลวง 83 แห่ง กรมทางหลวงชนบท 40 แห่ง ซึ่งจะเป็นการยกระดับจุดตัดเดิมที่มีปริมาณการจราจรเพิ่ม
จากมาตรการควบคุมต่างๆ ทำให้ลดการเกิดอุบติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟลงได้มาก โดยปี 2558 มีอุบัติเหตุ 92 ครั้ง เสียชีวิต 41 รายบาดเจ็บ 100 คน ปี 2559 มีอุบัติเหตุ 77 ครั้ง (ลดลง 16%) เสียชีวิต 32 ราย (ลดลง 25%) บาดเจ็บ 125 คน
“รัฐบาลให้ความสำคัญและเร่งรัดแก้ไขและพัฒนาจุดตัดรถไฟกับถนน รวมถึงเพิ่มมาตรการ เปิดไฟหน้าหัวจักรตลอดเวลาและเปิดหวูดเมื่อผ่านจุดตัดถนน ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้ผลมาก รมว.คมนาคมจึงให้ดำเนินการมาตรการต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมถึงบูรณาการร่วมกับท้องถิ่น ติดตั้งเครื่องกั้น ทางลอด ทางข้ามรถไฟให้ครบ และควบคุมไม่ให้มีทางลักผ่านเพิ่ม เพื่อให้การขนส่งทางรถไฟมีความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัยและคุ้มค่ากับการลงทุนระบบรถไฟทางคู่อีกด้วย”