xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ตามการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ผู้บริโภคยังกังวลค่าครองชีพ การฟื้นตัวที่ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก นโยบายสหรัฐฯ และปัญหาสงคราม ทำให้ระมัดระวังการใช้จ่าย แต่เชื่อการบริโภคกลับมาแน่ช่วงครึ่งปีหลัง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. 2560 ที่สำรวจจากประชาชนตัวอย่างทั่วประเทศ 2,247 คนว่า ดัชนีปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ และปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 77.0 เพิ่มขึ้นจาก 76.8 ในเดือน มี.ค. 2560 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 54.7 เพิ่มขึ้นจาก 54.5 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 86.3 เพิ่มขึ้นจาก 85.9 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 65.4 เพิ่มขึ้นจาก 65.1 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานอยู่ที่ 71.6 เพิ่มขึ้นจาก 71.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 94.0 เพิ่มขึ้นจาก 93.8

ปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นมาจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คงประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2560 ไว้ที่ 3.6% หลังจากการส่งออกที่เริ่มดีขึ้นตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มดีขึ้น สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังคงกังวลปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าที่ยังทรงตัวสูง รวมถึงยังรู้สึกว่ารายได้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น และยังกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่อาจทำให้เกิดสงคราม โดยเฉพาะเกาหลีเหนือ ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกของไทย

“ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ค่าของดัชนียังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก และยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกที่ยังผันผวนสูง ราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยบั่นทอนความเชื่อมั่นโดยรวม โดยเฉพาะความห่วงใยภาวะสงคราม”

นายธนวรรธน์กล่าวว่า การบริโภคของภาคประชาชนจะฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 หากรัฐบาลอัดฉีดเงินงบประมาณกลางปีกว่า 100,000 ล้านบาทผ่านโครงการพัฒนา 18 กลุ่มจังหวัดในไตรมาสที่ 2 ได้ตามแผนที่วางไว้

“การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง ถ้าความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญรัฐบาลต้องเร่งการลงทุนภาครัฐ และใช้การประกันราคาพืชผลทางการเกษตร เพื่อให้ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น และช่วยเพิ่มการใช้จ่ายในภูมิภาค ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเร่งเศรษฐกิจไทยให้สามารถขยายตัวได้ถึง 4% ในปีนี้”

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังจะจ่ายเงินสวัสดิการช่วยเหลือค่าครองชีพให้ผู้มีรายได้น้อย รวมวงเงินปีละ 20,000 ล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นนโยบายที่ดี และเห็นด้วย เพราะนอกจากจะแก้ปัญหาความยากจนแล้ว ยังถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทุกวงเงิน 10,000 ล้านบาทจะมีส่วนทำให้จีดีพีประเทศเติบโตขึ้นได้อีก 0.1-0.2% แต่ต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายและระยะเวลาที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้กลายเป็นโครงการประชานิยม ที่สำคัญ ต้องมีการประเมินผลด้วย แต่ในระยะปานกลาง รัฐบาลจะต้องเร่งฝึกอาชีพให้คนเหล่านี้ พร้อมทั้งเชื่อมโยงการหางานให้ด้วย เพื่อให้กลุ่มนี้มีอาชีพ สร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกัน ต้องเร่งส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้จีดีพีเติบโตได้ปีละ 4% ตามที่กระทรวงการคลังต้องการ
กำลังโหลดความคิดเห็น