xs
xsm
sm
md
lg

ราคาผัก ผลไม้ ลดวูบ หลังปีนี้ไม่มีภัยแล้ง ฉุดเงินเฟ้อเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้นแค่ 0.38%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เงินเฟ้อ เม.ย.เพิ่ม 0.38% สูงขึ้น 13 เดือนติดต่อกัน แต่สูงขึ้นในอัตราชะลอตัวลง เหตุสินค้าหมวดอาหารราคาลดลง 0.26% ติดลบครั้งแรกในรอบ 15 ปี หลังปีนี้ไม่มีปัญหาภัยแล้ง ราคาผักและผลไม้ลดลงอย่างมาก แต่น้ำมันยังขึ้นต่อเนื่อง “พาณิชย์” คาดปีนี้เงินเฟ้อ 1.5-2.2% และกำลังเป็นขาขึ้น เพราะราคาเกษตรพุ่ง ส่งออกดี คนไม่ต้องผ่อนรถคันแรก ทำให้มีเงินเหลือในกระเป๋า และรัฐยังอัดฉีดกระตุ้นฐานรากอีก

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน เม.ย. 2560 สูงขึ้น 0.38% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. 2559 เป็นการปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 นับจากเดือน เม.ย. 2559 ที่เริ่มเป็นบวกเป็นเดือนแรกที่ 0.07% หลังจากติดลบมาปีกว่า หรือ 15 เดือน แต่เงินเฟ้อก็สูงขึ้นในอัตราที่ลดลง นับจากที่เคยขึ้นสูงถึง 1.55% เมื่อเดือน ม.ค. 2560 และลดลงมาอยู่ที่ 1.44% ในเดือน ก.พ. และ 0.76% ในเดือน มี.ค. ส่วนเงินเฟ้อเม.ย. เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา สูงขึ้น 0.16% และเฉลี่ย 4 เดือนของปี 2560 (ม.ค.-เม.ย.) สูงขึ้น 1.03%

สาเหตุที่เงินเฟ้อเดือน เม.ย. 2560 สูงขึ้นในอัตราที่ลดลง เพราะสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.26% ติดลบครั้งแรกในรอบ 15 ปี นับจากเดือน เม.ย. 2545 ที่เคยติดลบ 0.3% โดยสินค้าสำคัญที่ลดลง คือ ผัก ลด 12.91% ผลไม้ ลด 1.82% แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลด 1.56% ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลด 2.32% ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ เพิ่ม 0.26% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 1.85% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.11% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 1.03% นอกบ้าน เพิ่ม 1.14%

สำหรับสินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 0.73% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 12.42% ค่าโดยสารสาธารณะ เพิ่ม 0.15% การรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.39% การบันเทิง การอ่าน การศึกษา เพิ่ม 0.62% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.09% ส่วนเคหสถาน ลด 1.17% การสื่อสาร ลด 0.04%

“เงินเฟ้อเดือน เม.ย.แม้จะปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง เพราะเดือนนี้ได้รับผลดีจากราคาผักและผลไม้ที่ปรับลดลงอย่างมาก เพราะไม่มีปัญหาภัยแล้ง ขณะที่ปีก่อนมีภัยแล้งและแล้งหนักทำให้ราคาปีก่อนสูง ฐานปีนี้เลยสูง พอเทียบกับราคาก็เลยลดลงมาก ส่วนไข่ นม ข้าว และแป้งก็ลดลง ทำให้ดัชนีหมวดอาหารติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี แต่สินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่อาหาร ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น และยังคงได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อจากนี้ไปคาดว่าจะยังคงเป็นช่วงขาขึ้น เพราะคนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น การส่งออกขยายตัวดีขึ้นทำให้คนมีรายได้มากขึ้น และกลุ่มคนที่เคยใช้สิทธิซื้อรถคันแรก ตอนนี้ก็ผ่อนหมดแล้วทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น และหากรวมกับเงินกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่มอนุมัติไปประมาณ 6 พันกว่าล้าน และยังคงเหลืออีกประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทที่ยังอยู่ระหว่างการจัดสรรก็จะเป็นแรงกระตุ้นเงินเฟ้อในปีนี้ โดยคาดว่าเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ที่ 1.5-2.2% ส่วนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) กระทบเงินเฟ้อเพียง 0.05% และกระทบสินค้าเพียง 0.002-0.266% จึงไม่มีเหตุผลที่สินค้าจะปรับขึ้นราคา
กำลังโหลดความคิดเห็น