“สคร.” ขยับแผนตั้งกองทุน TFF ก่อสร้างทางด่วน “พระราม 3-ดาวคะนอง” ในสิ้นปีนี้ ดีเลย์จากแผนเดิมเดือน พ.ค. หลังถูกติงมีต้นทุนการเงินแพงกว่าเงินกู้ “เอกนิติ” แจงต้นทุนทางการเงิน 8% เป็นแค่สมมติฐาน ขณะที่รัฐดัน TFF เพื่อช่วยลดเพดานหนี้สาธารณะของประเทศ เผยทำความเข้าใจ “สศช.-คลัง” ตรงกันแล้ว คาดชง ครม.ได้ตามขั้นตอน
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยถึงกรณีการจัดตั้ง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) สำหรับลงทุนโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ ด้านตะวันตก ระยะทาง 16.92 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 32,000 ล้านบาท ว่า จากที่กระทรวงคมนาคมได้ส่งเรื่องกลับให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ทบทวนโครงการ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลังมีความเห็นว่า TFF มีต้นทุนสูงกว่าเงินกู้นั้นอาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอยู่ ซึ่งล่าสุดตนได้ชี้แจงต่อ สศช.และสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังให้เข้าใจตรงกันแล้ว แต่จะต้องขยับแผนการออกขายกองทุน TFF จากเดือ นพ.ค.นี้ที่กำหนดไว้เดิมออกไปก่อน โดยจะพยายามจัดตั้งกองทุน TFF ให้ได้ก่อนสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ มีการมองว่า TFF มีต้นทุนทางการเงินที่ 8% ซึ่งสูงกว่าเงินกู้ที่มีต้นทุนประมาณ 3% ต้องชี้แจงว่าต้นทุน TFF ที่ 8% นั้นเป็นสมมติฐาน เพราะจะต้องรอดูความสนใจของนักลงทุนที่เข้ามาซื้อกองทุนอีกด้วย ซึ่งจะต่ำกว่า 8% แน่นอน และต้นทุนดังกล่าวจะเป็นอัตราของต้นและดอกเบี้ย ซึ่งต่างจากเงินกู้ที่เป็นดอกเบี้ยอย่างเดียว จึงไม่สามารถเปรียบเทียบกันตรงๆ ได้
“ความไม่เข้าใจดังกล่าวเป็นอุปสรรคเล็กน้อยในการออก TFF ลงทุนทางด่วนสายนี้ ทำให้ต้องขยับแผนจากเดือน พ.ค.นี้ออกไปเพื่อทำความเข้าใจ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐด้วยกันเองที่ต้องเข้าใจตรงกันก่อน ส่วน กทพ.นั้นได้ทบทวนแผนลงทุนแล้ว หลังจากนี้จะสามารถเสนอแผนได้ตามขั้นตอนแล้ว และในช่วงแรกหากจำเป็นต้องใช้เงินและกองทุน TFF ยังไม่เรียบร้อย กทพ.สามารถใช้เงินกู้ระยะสั้นมาดำเนินการได้ก่อน เพื่อเร่งรัดโครงการ”
นายเอกนิติกล่าวว่า ปัจจุบันรัฐมีการลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ปี 59-60 ซึ่งมีมูลค่าถึง 2.2 ล้านล้านบาท ทำให้มีภาระดอกเบี้ยเงินกู้ ขณะที่เพดานหนี้สาธารณะในการลงทุนของรัฐบาล หลายคนอาจมองว่ายังสามารถกู้ได้อีก แต่ความจริงปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 43% เหลือประมาณ 17% จะเต็มเพดานที่ไม่เกิน 60% ของจีดีพี ซึ่งประเมินเฉพาะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมจะเต็มเพดานหนี้สาธารณะแล้ว จะไม่เหลือช่องว่างสำหรับภาคสาธารณสุข การศึกษา ซึ่งเป็นพื้นฐานของประเทศเช่นกัน
ดังนั้น หากการลงทุนโครงการใดสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ ได้แทนเงินกู้จะช่วยลดเพดานหนี้สาธารณะของประเทศได้ ซึ่งกองทุนTFF เป็นการลงทุนผ่านหุ้น ลดหนี้สินต่อทุนของประเทศ และเป็นรูปแบบที่ภาคเอกชนหลายบริษัทใช้เพื่อลดสัดส่วนหนี้สินของบริษัท เช่น บีทีเอส จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) โดยหลังจากตั้งกองทุน TFF ของทางด่วนแล้วลำดับต่อไปจะเป็นกองทุนสำหรับลงทุนมอเตอร์เวย์ ซึ่งกรมทางหลวง (ทล.) จะต้องดำเนินการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน