ผอ.การท่าฯ เผย ท่าเรือกรุงเทพปรับปรุงระบบการให้บริการ ทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ลดค่าใช้จ่าย, ลดขั้นตอนช่วยผู้นำเข้า-ส่งออกประหยัดเวลา ประกอบธุรกิจง่ายๆ แถมลดการใช้กระดาษได้ถึง 5.5 ล้านแผ่น/ปี ดันการเลื่อนอันดับ Doing Business 2018 ของประเทศ
เรือเอก สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ตามที่ กทท. และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้มีการปรับปรุงการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น และถูกลง โดยมีเป้าหมายการจัดอับดับ Doing Business 2018 ให้ดีขึ้น และมีแผนการดำเนินการเชิงรุก ในการให้ประเทศไทยเป็นที่น่าสนใจในการประกอบธุรกิจและเป็นประเทศเป้าหมายของนักลงทุนนั้น ผลจากการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยในภาพรวม โดยธนาคารโลก ในปี 2017 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 46 และอยู่ในอันดับที่ 9 ของเอเชียในด้านการค้าระหว่างประเทศจากทั้งหมด 190 ประเทศทั่วโลก
การจัดอันดับ Doing Business มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาขั้นตอน ระยะเวลา ต้นทุน กฎระเบียบของรัฐว่ามีส่วนสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจในระดับใด ซึ่งท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ถือเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการให้บริการด้านการค้าระหว่างประเทศ (Trading across borders) จึงได้ดำเนินการพัฒนาด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องกับผู้นำเข้าและส่งออกมาอย่างต่อเนื่อง
โดยการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ National Single Window (NSW) ในการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานระหว่างภาครัฐกับเอกชน โดยยกเลิกการรายงานเรือเข้าและบัญชีสินค้าสำหรับเรือ พร้อมทั้งเชื่อมโยงใบกำกับการขนย้ายสินค้า และแบบขอนำตู้สินค้าขาออกผ่านท่าเข้าเขตศุลกากร ทกท. (ทกท.308.2) รวมทั้งยกเลิกข้อมูลเอกสารขาเข้าที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ Inward Cargo Manifest และ Inward Container List และเอกสารแนบต่างๆ เช่น บัญชีสินค้าผ่านแดน บัญชีสินค้าอันตราย บัญชีสินค้าผ่านท่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 และ 1 มกราคม 2560 ตามลำดับ
โดยการทำธุรกรรมต่างๆ ดังกล่าวผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดเป็นการลดการใช้กระดาษได้ถึง 5.5 ล้านแผ่น/ปี ลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ช่วยลดขั้นตอนเพิ่มความรวดเร็วและความง่ายในการประกอบธุรกิจ ประหยัดเวลาให้แก่ผู้นำเข้า-ส่งออก
การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ผู้ประกอบการให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว อำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ภาคธุรกิจ สนับสนุนในการดำเนินธุรกิจ การนำเข้า-ส่งออก การค้าระหว่างประเทศ อันเป็นการสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนที่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนของชาวต่างชาติให้เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังทำให้ผลการจัดอันดับ Doing Business (Trading across borders) ดีขึ้นด้วย