สหรัฐฯ ประกาศคงสถานะไทยอยู่ในบัญชี PWL ต่อเป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน แม้ไทยเดินหน้าปราบปรามอย่างเต็มที่ “พาณิชย์” เผยสหรัฐฯ ยาหอมพร้อมที่จะทบทวนสถานะให้ดีขึ้นในปีนี้ หากการทำงานมีความก้าวหน้าเชิงบวก
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2560 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2559 โดยสหรัฐฯ ยังคงจัดไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List - PWL) ต่อไป หลังจากที่อยู่บัญชี PWL มาตั้งแต่ปี 2550 แต่ USTR ได้ระบุในรายงานว่าพร้อมที่จะทบทวนสถานะของไทยให้ดีขึ้นในปีนี้ หากไทยยังคงมีความก้าวหน้าเชิงบวกในการแก้ไขปัญหาข้อกังวลด้านทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะได้รายงานผลการจัดสถานะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบด้วย
ทั้งนี้ แม้ไทยจะคงอยู่ในสถานะเดิม แต่หากดูในเนื้อหารายงานจะเห็นว่ามีความแตกต่างจากรายงานผลการจัดสถานะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กล่าวคือ สหรัฐฯ ตระหนักถึงเจตจำนงที่แน่วแน่ในระดับนโยบายของไทย โดยเฉพาะกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต่อสาธารณชนถึงความสำคัญของการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบ่อยครั้ง ตลอดจนมีการกำหนดแผนที่นำทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาระยะ 20 ปี (IP Roadmap) ที่รวมถึงเรื่องการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำให้การบูรณาการระหว่างหน่วยงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งเน้นเป้าหมายการสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดมากขึ้น
ส่วนข้อกังวลที่สหรัฐฯ เคยระบุในรายงานในปีที่ผ่านมา เช่น ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในท้องตลาดและการละเมิดออนไลน์ และปัญหางานค้างการจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า สหรัฐฯ เห็นว่าไทยได้ดำเนินการในทิศทางที่เหมาะสมแล้ว รวมทั้งการเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบของกรมทรัพย์สินทางปัญญา
นางอภิรดีกล่าวว่า ในการประเมินสถานะครั้งนี้มีหลายเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจะต้องนำมาพิจารณา แต่บางเรื่องสามารถที่จะทำความเข้าใจเพิ่มเติมกับสหรัฐฯ ได้ เช่น เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ในประเด็นการคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยี การคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ และการป้องกันการแอบถ่ายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ ซึ่งสหรัฐฯ แสดงความกังวลมาอย่างต่อเนื่อง กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เคยเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้งไทยและต่างประเทศ แต่ก็ไม่มีเจ้าของลิขสิทธิ์รายใดนำเสนอข้อมูลว่ามีปัญหาอุปสรรคแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังพบว่า สหรัฐฯ ได้แสดงความกังวลและต้องการผลักดันในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เช่น กฎหมายภาพยนตร์ให้อำนาจคณะกรรมการตามกฎหมายในการกำหนดโควตาภาพยนตร์ต่างประเทศ, ร่างกฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารของภาคเอกชน, การให้ความคุ้มครองข้อมูลผลการทดสอบยาและเคมีภัณฑ์เกษตร ที่สหรัฐฯ ต้องการยกระดับความคุ้มครอง และการกำหนดมาตรการด้านสาธารณสุข ที่สหรัฐฯ เน้นย้ำว่าควรมีกระบวนการที่โปร่งใสและเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเจ้าของสิทธิได้เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น
สำหรับการดำเนินการหลังจากนี้ ไทยจะดำเนินการตามแผนที่นำทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Roadmap) อย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย และที่สำคัญ เพื่อพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยเอง เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญาเป็นกลจักรสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการเติบโตด้านการค้าและการลงทุน ตลอดจนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางประเทศไทย 4.0