“กฟผ.” ปรับองค์กรรับเทรนด์พลังงานโลกมุ่งสู่พลังงานทดแทนมากขึ้น ตั้งหน่วยงานระดับรองผู้ว่าฯ ดูแล ดันสำนักงานใหญ่ กฟผ.เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) รับหากทิศทางพลังงานทดแทนราคาต่ำลงต่อเนื่อง “ผู้ว่าฯ กฟผ.” เชื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนดีพีดีที่จะต้องเกิดในปี 2576 อาจไม่เกิด แต่ย้ำถ่านหิน จ.กระบี่ เทพา จำเป็นไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาต่อความมั่นคงไฟฟ้า
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยในงานวันคล้ายวันสถาปนา “48 ปี กฟผ. องค์การใสสะอาด น้อมสืบสานปณิธานงานของพ่อ” ว่า กฟผ.เตรียมที่จะปรับแผนงานเพื่อให้สอดรับกับกระแสพลังงานของโลกที่มุ่งสู่พลังงานทดแทนมากขึ้น ดังนั้น กฟผ.จึงเตรียมที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็น 2,000 เมกะวัตต์ และปรับการบริหารโดยให้มีหน่วยงานที่จะยกจากระดับฝ่ายมาเป็นระดับรองผู้ว่าการให้ดูสายงานพลังงานทดแทนในเร็วๆ นี้ พร้อมเตรียมพัฒนาพื้นที่สำนักงานใหญ่ กฟผ.จ.นนทบุรี ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) บนพื้นที่ 300 ไร่
“ตามแนวทางนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 40% เบื้องต้นเราเองก็จะทำ 2,000 เมกะวัตต์ก่อน ซึ่งต้องให้ทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบก่อน ดังนั้น หากสัดส่วนจะเพิ่มเป็น 40% ก็ต้องบรรจุดในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีที่ต้องปรับปรุงใหม่ ซึ่งต้องหารือรายละเอียดกับสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จึงยังตอบไม่ได้ว่าที่สุดสัดส่วนจะเป็นอย่างไรแน่ ส่วนพลังงานทดแทนเราก็มีแนวคิดที่จะจ้างที่ปรึกษามาศึกษาตั้งบริษัทลูกที่ทำพลังงานทดแทนประกอบด้วย” นายกรศิษฎ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม แผนพีดีพี 2015 (2558-79) กำหนดให้ กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ ได้แก่ โรงไฟฟ้ากระบี่ 1 โรง เทพา 2 โรง และในปลายแผนพีดีพีคือช่วงปี 2576 จะต้องเกิดขึ้นอีก 1 โรงนั้นยอมรับว่าพลังงานทดแทนที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีจนเริ่มมีต้นทุนที่ต่ำความเห็นส่วนตัวแล้วจะทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินปลายแผนในปี 2576 อาจไม่เกิด แต่ระยะสั้นโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เทพาจำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อความมั่นคงเนื่องจากภาคใต้ส่วนหนึ่งจะมีพลังงานทดแทนมาก โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะเป็นระบบที่ต้องมีเพื่อเป็นกำลังผลิตสำรองหรือ Back Up ไว้รองรับเพราะพลังงานทดแทนยังไม่เสถียร
ทั้งนี้ หากมองเฉพาะตัวพลังงานทดแทนเองยอมรับว่าต้นทุนผลิตไฟเริ่มลดต่ำลงจริง แต่กระนั้นทุกคนมักลือว่าเมื่อเข้าระบบจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่รองรับเพื่อเป็นการสำรองไฟ เพราะพลังงานทดแทนไม่แน่นอนทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ตัวอย่างประเทศที่เปิดเสรีการซื้อขายไฟฟ้า (Power Pool) มีค่าไฟเฉลี่ย 5-6 บาทต่อหน่วย ไทยเองมีค่าไฟเฉลี่ยกว่า 3 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพลังงานทดแทนที่ กฟผ.จะดำเนินการ 2,000 เมกะวัตต์จะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟสูงขึ้นบ้างแต่ก็จะไม่มากเพราะสัดส่วนโรงไฟฟ้าอื่นๆ ยังคงมีอยู่
นอกจากนี้ กฟผ.เองยังมองในเรื่องของเชื้อเพลิงผสมผสานหรือ Hybrid หรือระบบกักเก็บ Energy Storage เพื่อที่จะทำให้พลังงานทดแทนมีความเสถียรและมั่นคงมากขึ้น ประกอบกับพลังงานทดแทนที่อาจจะมาเร็วกว่าที่คิด กฟผ.จึงเร่งเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลเพื่อลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage ใน 2 พื้นที่ คือ อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นพลังงานลมขนาด 16 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์ คาดว่าต้องใช้งบลงทุนเมกะวัตต์ละหลายร้อยล้านบาท รวมๆ แล้วจะเป็นการลงทุนนับ 1,000 ล้านบาท
" 48 ปีที่ผ่านมา กฟผ.ยังคงมุ่งมั่นในการผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ของประเทศให้เพียงพอและมีราคาที่เป็นธรรม และอนาคตที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง กฟผ.เองก็พร้อมที่จะปรับวิสัยทัศน์ คงไม่ยึดติด แต่ยังคงมีเป้าหมายในการดูแลเศรษฐกิจและประชาชนต่อไป” ผู้ว่าฯ กฟผ.กล่าว