xs
xsm
sm
md
lg

รับเหมางานทะลัก! “ช.การช่าง” ตั้งเป้าแบ่งเค้ก Action Plan 60 มูลค่า 8.9 แสนล้าน 20-25%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK
“ช.การช่าง” คาดปี 60 มีรายได้จากงานก่อสร้าง ถึง 3.5 หมื่นล้าน มีกำไรขั้นต้น 8-10% “ปลิว” พร้อมลงทุนทุกโครงการของภาครัฐ ทั้งงานก่อสร้าง และร่วมลงทุน (PPP) รถไฟฟ้า โดยได้เซ็นสัญญางานปี 60 ไปแล้ว มูลค่า 2.85 หมื่นล้าน เหลือจ่อเซ็นอีก 2 หมื่นล้าน ซึ่งจะเพิ่ม Backlog แตะแสนล้านบาท คาดชิงส่วนแบ่ง โครงการ Action Plan 60 ได้ 20-25% จากมูลค่า 8.9 แสนล้าน ขณะที่จ่อออกหุ้นกู้จ่ายหนี้ครบอายุ ไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้าน

นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และในปี 2560-61 จะขับเคลื่อนออกมาอีกมากรวมถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะทำให้มีงานก่อสร้างมากตามไปด้วย ซึ่งบริษัทฯ ได้เตรียมความทั้งด้านการก่อสร้าง วิศวกรรม การเงิน บุคลากร การบริหารจัดการ เชื่อว่าด้วยขีดความสามารถที่มีพร้อมรับโครงการของภาครัฐ ขณะเดียวกันจะลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีโครงการพัฒนาต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย

ปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) มูลค่าประมาณ 85,231 ล้านบาท ณ ปัจจุบันบริษัทได้มีการลงนามในโครงการต่างๆ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างสถานีเพิ่มแรงดันเป็นสถานีจ่ายน้ำ มูลค่า 303 ล้านบาท, โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี สัญญา ที่ 1 มูลค่า 11,570 ล้านบาท, โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สัญญาที่ 2 มูลค่า 12,060 ล้านบาท, โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สัญญาที่ 5 มูลค่า 2,709 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วงบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา สัญญาที่ 4 มูลค่า 1,852 ล้านบาท และโครงการที่จะลงนามในเร็วๆ นี้ คือ โครงการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ 2 สัญญา มูลค่าประมาณ 19,463 ล้านบาท ซึ่งโครงการเหล่านี้จะทำให้มูลค่างานในมือ (Backlog) ของบริษัทแตะระดับ 100,000 ล้านบาท สามารถรับรู้รายได้ถึง 3 ปีข้างหน้า

“ปีนี้ครบรอบ 45 ปี ของการดำเนินธุรกิจ พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้พัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานระดับภูมิภาค ด้วย 5 จุดแกร่ง อันประกอบด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งคว้าโอกาสทั้งในและต่างประเทศ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงาน การสร้างกำลังคนที่เปี่ยมคุณภาพ การบริหารการเงินที่แข็งแกร่งพร้อมจะลงทุนในโครงการต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมตั้งเป้ารายได้ 30,000 ล้านบาท สำหรับปี 2560” นายปลิวกล่าว

น.ส.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง กล่าวว่า ผลการดำเนินงานงวดปี 2559 เป็นไปตามเป้าและยังคงรักษาระดับ ความแข็งแกร่งในการสร้างรายได้และกำไร จากการดำเนินงานได้ในระดับที่ดี โดยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 2,002 ล้านบาท มีรายได้จากการก่อสร้างและการขายวัสดุรวม 45,768 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นในปี 2559 อยู่ที่ 7.08% ซึ่งเป็นที่น่าพอใจ ด้วยผลประกอบการปี 2559 ที่แข็งแกร่งนี้ ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 28 เมษายน 2560 ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งปีหลังในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท

สำหรับความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ที่กำลังดำเนินการนั้น โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ความคืบหน้า 97.6% และสัญญางานวางราง ความคืบหน้า 86.8% โครงการบริหารโครงการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าสายสีม่วง สัญญา 4 ความคืบหน้า 91.8% โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงจิระ-ขอนแก่น ความคืบหน้า 15.0% โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา สัญญา 6 ความคืบหน้า 0.1% โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน (BIC2) ความคืบหน้า 78.5% โครงการไซยะบุรี ความคืบหน้า 71.3% โครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยนาบง ณ สปป.ลาว ความคืบหน้า 38.4%

โดยในปี 2560 ได้ลงนามสัญญางานมูลค่ารวม 28,500 ล้านบาท และรอลงนามสัญญาอีกประมาณ 20,000 ล้านบาทซึ่งจะเพิ่ม Backlog แตะแสนล้านบาท ขณะที่ปี 2560 มีโครงการในแผนปฎิบัติการ (Action Plan) จำนวน 36 โครงการ มูลค่ารวม 8.9 แสนล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรกจะเป็นโครงการรถไฟทางคู่ มูลค่ากว่าแสนล้านบาท และครึ่งปีหลังจะเป็นโครงการโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายอีกหลายโครงการ เช่น สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ, สายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4, สายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ-บางปู, สายสีเขียวเข้ม ช่วงคูคต-ลำลูกกา และสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีโครงการทางพิเศษสายพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โครงการรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิส่วนต่อขยาย (Airport Rail Link), โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก ซึ่งบริษัทฯ เองก็ได้เตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อเข้าร่วมประมูลอย่างเต็มที่ และตั้งเป้าที่จะได้ส่วนแบ่งงานในสัดส่วน 20-25% ของมูลค่างานที่ออกมาทั้งหมด

ทั้งนี้ ในปี 60 คาดว่าบริษัทฯ จะมีรายได้จากงานก่อสร้าง ประมาณ 35,000 ล้านบาท ซึ่งน่าพอใจโดยจะมีกำไรขั้นต้น 8-10%

“ในโอกาสครบรอบปีที่ 45 ในปีนี้ บริษัทฯ ได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนากลยุทธ์เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 และพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นผู้พัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานระดับภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีแผนในการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อเป็นการตอบแทนและให้คืนสู่สังคมอีกด้วย” น.ส.สุภามาสกล่าว

นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานปฏิบัติการ บริษัท ช.การช่าง กล่าวว่า นโยบายรัฐมการขับเคลื่อนการลงทุนงานก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเห็นว่า ปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง ไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง แต่ข้อกังวลของงานก่อสร้างจะเป็นเรื่องการบริหารต้นทุน และเวลา เนื่องจากจะมีการลงทุนในช่วงเวลาเดียวกันหลายโครงการ ขณะที่มีงานก่อสร้างในเมือง งานระบบใต้ดิน งานค่อนข้างยาก ส่วนด้านการเงินสำหรับงานก่อสร้างนั้นไม่น่ามีปัญหา เพราะหลักการของสัญญาก่อสร้างจะเงินที่จ่ายล่วงหน้าตามสัญญา ซึ่ง ช.การช่างเชื่อว่าด้วยศักยภาพจะสามารถได้ส่วนแบ่งงานในระดับ 20-25%

ขณะที่การขับเคลื่อนงานขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น มองว่าภาครัฐมีงานย่อยออกมาด้วย เป็นกระจายงานให้แก่เอกชน ในหลายส่วนนอกเหนือจากการก่อสร้าง เข่น วัสดุก่อสร้าง สถาบันการเงิน การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จะได้รับเม็ดเงินต่อๆ กันไป ทั้งเรื่องถนน หรือมอเตอร์เวย์ มีถึง 40-50 สัญญา ซึ่งภาครัฐมีงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และควรเน้นในรูปแบบร่วมทุนเอกชน (PPP) ด้วยเพื่อให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เหมือนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินสีชมพู สีเหลือง และเชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้โครงการมีความรวดเร็วขึ้น ตามนโยบาย

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีรายได้หลักจากงานก่อสร้าง ซึ่งมีกำไรไม่มากประมาณ 3-4% ซึ่งบริษัทมีแนวทางการลงทุนในธุรกิจอื่นด้วย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของรายได้ และสร้างกำไรที่มากขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายที่ไม่มากนัก เช่น การถือหุ้นใน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และซีเคเพาเวอร์ โดยสร้างความมั่นคงทางรายได้และกำไร ซึ่งสัดส่วนกำไรจากส่วนงานก่อสร้าง และการลงทุนในธุรกิจอื่น จะอยู่ที่ 50:50

จ่อออกหุ้นกู้ จ่ายหนี้ครบอายุ ไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท

นายประเสริฐ มริตตนะพร กรรมการบริหารและผู้บริหารอาวุโส กล่าวว่า ฐานะการการเงินของบริษัทอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งที่ผ่านมาได้ขออนุมัติผู้ถือหุ้นในการออกหุ้นกู้ไว้ที่ 35,000 ล้านบาท ขณะนี้ยังมีเหลือวงเงินสามารถออกหุ้นกู้ที่ 7,000-8,000 ล้านบาท ซึ่งกำลังศึกษาว่าจะมีการออกหุ้นกู้อีกในวงเงินเท่าใด และช่วงเวลาใด ซึ่งในช่วงกลางปีนี้ จะมีหนี้เงินกู้ที่ครบอายุ วงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท ขณะที่หากจำเป็นจะออกหุ้นกู้เพื่อจ่ายเงินกู้ที่ครบกำหนด เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น