กรมทรัพย์สินทางปัญญาผลักดันนักประดิษฐ์ นักคิดค้น สร้างผลงานนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ รองรับประชากรผู้สูงอายุของไทยที่คาดว่าจะมีมากถึง 19.5 ล้านคนในปี 73 เล็งสำรวจผลงานสิทธิบัตรจากทั่วโลก ก่อนแนะนำให้ผู้ประกอบการไทยทำการต่อยอดและผลิตเป็นสินค้าออกมาตอบสนองความต้องการของตลาด
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดงานเสวนา “นวัตกรรมตอบโจทย์สังคมสูงวัย” โดยมองเห็นว่าแนวโน้มประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผลมาจากการเกิดลดลง และอายุเฉลี่ยของประชากรยืนยาวขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนานาประเทศ กรมฯ จึงต้องเข้ามาช่วยผลักดันให้มีการประดิษฐ์ คิดค้น สินค้าที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้สูงอายุที่กำลังจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ไทยมีโครงสร้างประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นลำดับที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียรองจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และคาดว่าจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 19.5 ล้านคนของประชากรทั้งหมดในปี 2573
“การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าวเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจทั้งในระดับชาติและระดับโลก หากไม่มีการเตรียมความพร้อมให้ดี ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงในการดำรงชีวิต มีปัญหาภาระต่อสังคม ซึ่งนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่หลายประเทศให้ความสำคัญในการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถสร้างคุณประโยชน์ให้สังคมและเศรษฐกิจได้ต่อไป” นายทศพลกล่าว
นายทศพลกล่าวว่า กรมฯ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนให้มีการประดิษฐ์ คิดค้น นวัตกรรมใหม่ๆ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ได้มีแผนในการผลักดันให้นักประดิษฐ์ นักวิจัย คิดค้นงานประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ โดยจะทำการสำรวจผลงานสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุจากทั่วโลกว่ามีอะไรบ้าง และมีผลงานอะไรที่สามารถนำมาต่อยอดและพัฒนาได้ จากนั้นจะผลักดันให้ผู้ประกอบการของไทยนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อผลิตเป็นสินค้าออกมาใช้ในเชิงพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้ประกอบการของไทยได้มีการประดิษฐ์ คิดค้นผลงานนวัตกรรมที่ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุขึ้นมาบ้างแล้ว เช่น อุปกรณ์ช่วยเดิน ถุงมืออัจฉริยะ ที่ใช้ช่วยเหลือผู้พิการและผู้สูงอายุในการตรวจหาวัตถุในระยะที่กำหนด โดยกรมฯ จะผลักดันให้มีการคิดค้นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุให้เพิ่มมากขึ้นต่อไป