xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดการบินอาเซียน-เอเชียสุดแข็งแกร่ง โบอิ้งเล็งคุยบินไทยร่วมมือด้านซ่อมบำรุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โบอิ้ง มุ่งอาเซียน/เอเชีย ชี้ธุรกิจการบินปี 60 สุดแข็งแกร่ง ตลาดเติบโตสูง โดยเฉพาะ “โลว์คอสต์แอร์ไลน์” มีความต้องการเครื่องบินใหม่ ทั้งเพิ่มขีดการให้บริการและทดแทนเครื่องเก่า เล็งคุยการบินไทยขยายความร่วมมือเพิ่มทักษะด้านซ่อมบำรุง ฝ่ายช่าง

นายแรนดี้ ทินเซ็ธ รองประธานฝ่ายการตลาด โบอิ้ง คอมเมอร์เชียล แอร์เพลน เปิดเผยถึงทิศทางตลาดเครื่องบินพาณิชย์ว่า ในระยะ 20 ปีต่อจากนี้ตลาดเอเชียจะเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตของธุรกิจการบินสูงที่สุด โดยจะมีการส่งมอบเครื่องบินถึง15,130 ลำ ขณะที่ตลาดอเมริกาเหนือส่งมอบ 8,330 ลำ และยุโรป 7,570 ลำ โดยจีนจะเป็นลูกค้ารายใหญ่ของเอเชียในสัดส่วน 40% ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีสัดส่วนประมาณ 25% โดยลูกค้าส่วนใหญ่ คือ สายการบินในประเทศไทย, มาเลเซีย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย ขณะที่เครื่องบินแบบทางเดินเดียว (Single-aisle) มีความต้องการสูงสุดถึง 71% ของเครื่องบินทั้งหมด รองลงมาเป็นเครื่องบินขนาดเล็กแบบลำตัวกว้างคิดเป็น 13% และเครื่องบินขนาดกลางแบบลำตัวกว้างคิดเป็น 9%  

ซึ่ง ไลอ้อนแอร์ มีคำสั่งซื้อเครื่องบินแบบทางเดินเดียวมากที่สุด ขณะที่การบินไทยได้จัดซื้อเครื่องบินในอดีตจากโบอิ้งมากว่า 75 ลำ เช่น DC-10, MD-11, 737, 747, 777 และ 787 ดรีมไลเนอร์ ส่วนนกแอร์ สั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 Next Generation จำนวน 7 ลำ และโบอิ้ง 737 MAX8 จำนวน 8 ลำ เมื่อเดือน พ.ค. 2557

ทั้งนี้ การเติบโตของตลาดการบินเป็นผลมาจากความต้องการเครื่องบินใหม่เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น การเปิดบริการในตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดโลว์คอสต์ และการเปลี่ยนเครื่องบินรุ่นใหม่เพื่อทดแทนเครื่องบินรุ่นเก่า ซึ่งคาดว่าจะมีถึง 40% ที่ซื้อเครื่องใหม่เพื่อแทนเครื่องเก่า โดยในปี 60 ธุรกิจการบินจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้นจากปัจจัยราคาน้ำมันที่จะทำให้มีกำไรในการให้บริการเพิ่ม โดยผู้โดยสารจะเติบโต 5.1% ด้านขนส่งสินค้าโต 3.3% และประเมินว่าในอีก 20 ปีการเติบโตของเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยทั่วโลกจะอยู่ที่ 2.9% ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารเครื่องบินจะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 4% ความต้องการเครื่องบินทั่วโลกจากปัจจุบัน 20,000 ลำ จะเพิ่มเป็น 45,000 ลำในปี 2578

อย่างไรก็ตาม เมื่อตลาดเครื่องบินขยายตัว บริการหลังการขายครอบคลุมบริการด้านการขนส่งสินค้าและบริการภาคพื้นดิน การซ่อมบำรุงและวิศวกรรม การบริหารด้านการบิน การตลาดและการวางแผน และอื่นๆ คาดจะเติบโตที่ 4% ต่อปี หรือมีมูลค่าประมาณ 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งโบอิ้งคาดว่าจะมีส่วนแบ่งที่ 30-35% และเห็นว่าธุรกิจต่อเนื่องดังกล่าวจะเป็นโอกาส ซึ่งได้หารือกับการบินไทยในการขยายความร่วมมือในด้านการซ่อมบำรุง ฝึกอบรม สร้างทักษะทางวิศวกรรม หรือ Training Center เป็นต้น 

นายแรนดี้กล่าวว่า เพื่อรองรับแนวโน้มการพัฒนาและการเติบโตของตลาด โบอิ้งได้ดำเนินโครงการพัฒนาเครื่องบินอย่างต่อเนื่อง โดยมีเครื่องบินหลากหลายรุ่นที่สนองความต้องการที่หลากหลายของตลาด เช่น เครื่องบินในตระกูล 737 ซึ่งเป็นเครื่องบินขนาดเล็ก ตระกูล 787 ซึ่งเป็นขนาดกลาง และ 777 ซึ่งเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่  โดยในขณะนี้บริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อจากสายการบินทั่วโลกรวมทุกประเภทเป็นจำนวน 5,715 ลำ มูลค่าประมาณ 416 พันล้านเหรียญสหรัฐ

โดยในตลาดเครื่องบินขนาดเล็ก โบอิ้ง 737 MAX ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดที่มีความโดดเด่นเรื่องความประหยัด และคล่องตัวมีการพัฒนาก้าวหน้าตามกำหนด โดย 737 MAX 9 ได้ทำการบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะส่งมอบลำแรกได้ในปี 2561 และคาดว่าในปี 2562 เครื่องบินในตระกูลนี้ ได้แก่ 737 MAX7 และ 737MAX 200 จะมีการขยายตัวมาก ส่วนโบอิ้ง 737 MAX 10 ซึ่งเป็นเครื่องบินแบบทางเดินเดียวที่สามารถช่วยเพิ่มผลกำไรจากการประหยัดต้นทุนของสายการบิน ก็กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาช่วงสุดท้ายเช่นกัน

โบอิ้ง 787 นับเป็นเครื่องบินขนาดกลางที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากสายการบินทั่วโลก และช่วยให้สายการบินต่างๆ เปิดเส้นทางบินใหม่ได้อีกกว่า 140 แห่ง รวมเป็นจำนวนเส้นทางที่ให้บริการในปัจจุบัน 1,290 เส้นทาง ปัจจุบันโบอิ้งได้รับคำสั่งซื้อแล้ว 1,211 ลำจาก 64 สายการบินทั่วโลก โดยรุ่น 787-9 จะสามารถบรรทุกผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 20% ขนสินค้าเพิ่มขึ้น 23% และบินได้ไกลขึ้น 520 กิโลเมตร ซึ่งจะส่งมอบให้การบินไทยในปลายปี 2560 นี้

ส่วนโบอิ้ง 777 ยังคงเป็นเครื่องบินแบบ 2 ทางเดินที่ได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากมีความแม่นยำวางใจได้ มีการออกแบบตกแต่งภายในที่ให้ความสะดวก และมีพิสัยบินไกล และมียอดสั่งซื้อมากกว่าเครื่องบินแอร์บัส 350-1000 ถึง 4 เท่า
นายแรนดี้ ทินเซ็ธ รองประธานฝ่ายการตลาด โบอิ้ง คอมเมอร์เชียล แอร์เพลน
กำลังโหลดความคิดเห็น