“พาณิชย์” เผยส่งออก มี.ค.ทำได้ 20,887.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.22% มูลค่าทะลุ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐอีกครั้งในรอบ 29 เดือน ส่วนไตรมาสแรกเพิ่ม 4.9% สูงสุดในรอบกว่า 4 ปี คาดเป้า 5% มีโอกาสทำได้ หลังส่งออกเป็นขาขึ้น สินค้าเกษตร สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันราคาดีขึ้น แต่ต้องระวังปัจจัยเสี่ยง ทั้งความตึงเครียดทางการเมือง และนโยบายทรัมป์ที่ไม่ชัดเจน เตรียมนัดหารือทำแผนรับมืออีกครั้ง 26 เม.ย.นี้
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน มี.ค. 2560 มีมูลค่า 20,887.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.22% กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง หลังจากเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ติดลบ 2.76% และมูลค่าการส่งออกยังสามารถทำมูลค่าได้เกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในรอบ 29 เดือน นับจากเดือน ต.ค. 2557 ที่ทำได้ 20,205.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,270.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.26% และเกินดุลการค้ามูลค่า 1,616.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับยอดรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 (ม.ค.-มี.ค.) เพิ่มขึ้น 4.9% เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส หรือในรอบกว่า 4 ปี
“การการส่งออกของไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีแรงผลักดันมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งสอดคล้องกับที่องค์การการค้าโลก (WTO) ประเมินไว้ว่าภาวะการค้าโลกในเดือน ก.พ.ปีนี้เติบโตถึง 6.4%” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ทิศทางการส่งออกจากนี้ไป มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กระทรวงฯ ตั้งไว้ที่ 5% โดยราคาสินค้าเกษตรสำคัญ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองในภูมิภาคต่างๆ ทั้งคาบสมุทรเกาหลี ซีเรีย ความไม่ชัดเจนนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยนและเพิ่มความไม่แน่นอนของการค้าและการลงทุนของโลกในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 26 เม.ย.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะนัดประชุมระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นทางการ เพื่อประเมินและติดตามผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากนโยบายของสหรัฐฯ โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ซึ่งในเบื้องต้นเอกชนค่อนข้างกังวลกับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้น และทำให้ภาวะการค้ามีความไม่แน่นอนสูง โดยแนวทางในการลดความเสี่ยงจะต้องกระจายการส่งออกไปยังตลาดอื่นเพิ่มขึ้น เพื่อลดผลกระทบ หากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่าลดลง
สำหรับการส่งออกในเดือน มี.ค. สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่มขึ้น 12% โดยสินค้าที่ขยายตัวดี เช่น ยางพารา เพิ่ม 95.4% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 15% ผักผลไม้ เพิ่ม 3% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 8.7% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่ม 64.7% เครื่องคอมพิวเตอร์ เพิ่ม 18.4% น้ำมันสำเร็จรูป เพิ่ม 53.9%
ส่วนตลาดส่งออกส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นทุกตลาด โดยตลาดหลัก เพิ่มขึ้น 10.5% มาจากญี่ปุ่น เพิ่ม 14.9% สหรัฐฯ เพิ่ม 7.1% สหภาพยุโรป เพิ่ม 10.2% ตลาดศักยภาพสูง เพิ่มขึ้น 14.5% เช่น CLMV เพิ่ม 18.1% แต่อาเซียนเดิม ลด 8.6% จีน เพิ่ม 47.6% สูงสุดในรอบกว่า 5 ปี เอเชียใต้ เพิ่ม 19.1% ฮ่องกง เพิ่ม 10% เกาหลีใต้ เพิ่ม 24.7% ไต้หวัน เพิ่ม 27.1% ตลาดศักยภาพระดับรอง ลดลง 1% เป็นการลดลงของตลาดตะวันออกกลาง 21.5% แอฟริกา ลด 3.4% แต่ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 8.7% ละตินอเมริกา เพิ่ม 0.8% กลุ่ม CIS รวมรัสเซีย เพิ่ม 109.3% แคนาดา เพิ่ม 13.7% ตลาดอื่นๆ เพิ่มลดลง 16.8% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ลด 19.1%