xs
xsm
sm
md
lg

กรมการขนส่งฯ ประกาศคุมความสูงรถบัส 2 ชั้นไม่เกิน 4 เมตร เพื่อความปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมการขนส่งทางบกออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ส่วนควบ ปรับลดความสูงของรถโดยสารสองชั้นไม่เกิน 4 เมตร จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 4.30 เมตร โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2560 ส่วนรถโดยสารและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 ต้องติดแผ่นสะท้อนแสง ส่วนรถเก่าให้เวลาแก้ไขถึง 1 ม.ค. 2562 เพื่อเพิ่มระยะมองเห็นเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานบนท้องถนน

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า กรมการขนส่งฯ ได้ออกกฎกระทรวงใหม่ ฉบับที่ 62 (พ.ศ. 2559) โดยเป็นการกำหนดและควบคุมมาตรฐานอุปกรณ์ส่วนควบเพื่อความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก ปรับลดความสูงของรถโดยสารสองชั้นให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ ต้องมีความสูงไม่เกิน 4.0 เมตร จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 4.30 เมตร โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2560 และยังต้องผ่านการทดสอบการทรงตัว เช่นเดียวกับรถโดยสารทุกประเภททุกคันที่มีความสูงเกิน 3.60 เมตร ซึ่งเป็นมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยสำหรับรถโดยสารทุกคันที่ดำเนินการมาตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกให้ความสำคัญต่อประเด็นความปลอดภัยของรถทุกคันบนท้องถนน ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นมาตรการเชิงป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ การสร้างระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ พร้อมยกระดับมาตรฐานวิศวกรรมยานยนต์ของประเทศไทยให้มีความปลอดภัยเทียบเท่าสากล โดยเฉพาะความปลอดภัยของรถโดยสารขนาดใหญ่และรถบรรทุก ตามแผน “ยกระดับมาตรฐานวิศวกรรมยานยนต์” ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 ต่อเนื่องปี 2560 สำหรับโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จและยกระดับความปลอดภัยให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารและรถบรรทุกตามแผน “ยกระดับมาตรฐานวิศวกรรมยานยนต์” ที่ดำเนินการแล้วเสร็จอีกจำนวน 10 โครงการ จากทั้งหมด 17 โครงการ ประกอบด้วย กำหนดมาตรฐานความแข็งแรงของโครงสร้างหลักของตัวถังรถโดยสาร, มาตรฐานวัสดุสำหรับติดตั้งในรถโดยสาร, มาตรฐานความแข็งแรงของที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และจุดยึดเข็มขัดนิรภัย เพื่อให้ตัวถังรถโดยสารมีความมั่นคงแข็งแรงและมีความปลอดภัยในการใช้งาน และลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุรถโดยสารพลิกคว่ำ

มาตรฐานอุปกรณ์หรือแผ่นสะท้อนแสง สำหรับรถโดยสารและรถบรรทุก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็นได้อย่างชัดเจนในเวลากลางคืน ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงมาตรฐานการบำรุงรักษารถระหว่างการใช้งาน ในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกขนาดใหญ่ เพื่อให้รถทุกคันอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย

โดยแสงหรือแผ่นสะท้อนแสงที่มีคุณลักษณะ สี ขนาด และตำแหน่งติดตั้งที่เหมาะสมเพื่อประสิทธิภาพในการมองเห็นได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะในเวลากลางคืน ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถหลีกเลี่ยงหรือหยุดรถในระยะที่ปลอดภัย ลดโอกาสเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ โดยให้มีผลบังคับใช้ทันทีกับรถโดยสารขนาดใหญ่และรถบรรทุกทุกคันที่จดทะเบียนใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ซึ่งต้องติดตั้งอุปกรณ์สะท้อนแสงที่สามารถสังเกตเห็นในเวลากลางคืนได้ในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ด้านท้ายรถ ให้ติดตั้งอุปกรณ์สะท้อนแสงสีแดง ส่วนด้านข้างรถทั้งสองข้างให้ใช้อุปกรณ์สะท้อนแสงสีเหลืองอำพัน

นอกจากการติดตั้งอุปกรณ์สะท้อนแสงแล้ว สำหรับรถบรรทุก ทุกลักษณะ ที่มีจำนวนเพลาล้อ กงล้อ และยาง ตั้งแต่ 2 เพลา 4 ล้อ ยาง 6 เส้น ขึ้นไป (ยกเว้นรถลากจูง) ต้องติดตั้งแผ่นสะท้อนแสงควบคู่กับอุปกรณ์สะท้อนแสงด้วย โดยวิธีการติดตั้งอุปกรณ์สะท้อนแสงและแผ่นสะท้อนแสงต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล

สำหรับรถโดยสารและรถบรรทุกที่จดทะเบียนก่อนวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ กำหนดระยะเวลาให้ผู้ประกอบการขนส่งมีเวลาในการติดตั้งและปรับปรุงแผ่นสะท้อนแสงให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ดังนี้ รถที่ยังไม่ติดตั้งแผ่นสะท้อนแสงหรือติดตั้งแล้วแต่มีขนาดและตำแหน่งการติดตั้งไม่เป็นไปตามที่กำหนด ต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 มกราคม 2562 กรณีรถที่ติดตั้งแผ่นสะท้อนแสงแล้ว โดยมีขนาดและตำแหน่งติดตั้งถูกต้อง แต่ใช้วัสดุหรือมีสีไม่เป็นไปตามกำหนด ให้ระยะเวลาในการแก้ไขให้เรียบร้อยภายในวันที่ 1 มกราคม 2563

สำหรับผู้ประกอบการฝ่าฝืนไม่ติดตั้งภายในระยะเวลาที่กำหนดมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท โดยกรมการขนส่งทางบกมีมาตรการในการกำกับดูแลอย่างเข้มข้นจริงจัง พร้อมดำเนินการตามกฎหมายทันทีกรณีฝ่าฝืน และหากเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุร้ายแรง ผู้ประกอบการต้องมีส่วนรับผิดชอบทุกกรณี

นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐานสากลที่เหมาะสมกับประเทศไทย มาตรฐานรถโรงเรียนและรถรับส่งนักเรียน ซึ่งทุกคันต้องจดทะเบียนขออนุญาตให้ถูกต้อง พร้อมมีมาตรการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายที่สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม มีความปลอดภัยและมีความเหมาะสมต่อสภาพวิถีชุมชนในปัจจุบัน

และเพื่อสร้างความมั่นใจว่ารถทุกคันที่ใช้งานบนท้องถนนมีความมั่นคงแข็งแรงปลอดภัยและไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กรมการขนส่งทางบกได้พัฒนาระบบรายงานผลตรวจสภาพรถของสถานตรวจสภาพรถเอกชนแบบออนไลน์ (ตรอ. On-line) และระบบรายงานการตรวจทดสอบระบบการใช้ก๊าซเชื้อเพลิงของรถยนต์แบบออนไลน์ (สถานตรวจระบบก๊าซ On-line) โดยเริ่มใช้งานระบบตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุม กำกับ การทำงานของสถานตรวจสภาพรถเอกชนและสถานตรวจทดสอบระบบการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง พร้อมจัดตั้งศูนย์ monitor สถานตรวจสภาพรถ และสถานตรวจระบบก๊าซ ประจำพื้นที่ในกรุงเทพมหานครจำนวน 5 แห่ง และที่สำนักงานขนส่งทุกจังหวัด 76 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับโครงการที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการประกอบด้วย มาตรฐานระบบห้ามล้อ ABS, มาตรฐานระบบหน่วงความเร็วรถ (Endurance Braking System), มาตรฐานอุปกรณ์ต่อพ่วงของรถลากจูงและรถพ่วง, มาตรฐานอุปกรณ์ยึดตู้คอนเทนเนอร์, มาตรฐานรถขนส่งวัตถุอันตราย, การติดตั้งเครื่องตรวจสภาพรถให้ครบทุกสำนักงานสาขา และจัดจ้างบุคลากรตรวจสภาพรถเพิ่มเติม นั้นจะได้เร่งดำเนินการในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อให้การควบคุม กำกับ สร้างมาตรฐานความปลอดภัยของรถทุกคันมีความครอบคลุมในทุกมิติ ทุกประเด็นความปลอดภัย และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น