“พาณิชย์” ถกหน่วยงานรัฐ-เอกชนจัดทำข้อมูลตอบคำถามสหรัฐฯ ชี้แจงข้อสงสัยการได้ดุลการค้า พร้อมส่งทูตพาณิชย์ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ชี้แจงรายละเอียด 18 พ.ค.นี้ มั่นใจตอบข้อสงสัยได้ทุกประเด็น ย้ำไทยไม่มีนโยบายการค้าที่เอาเปรียบสหรัฐฯ ส่วนเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่สหรัฐฯ กังวล ยันที่ผ่านมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลต่างๆ ตามที่สหรัฐฯ ขอให้ตอบคำถามด้านนโยบายการค้าว่าทำไมไทยถึงได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคธุรกิจไทย และภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ในไทย และเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วจะส่งให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ตามกำหนดในวันที่ 10 พ.ค.นี้ และจะสั่งการให้อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ (สพต.) ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ในการเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะในวันที่ 18 พ.ค.ด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยันว่าไทยไม่มีนโยบายการค้าที่เป็นการเอาเปรียบสหรัฐฯ จนทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทย เพราะในเรื่องดุลการค้าจะมองเฉพาะการค้าสินค้าอย่างเดียวไม่ได้ ยังมีการค้าบริการและการลงทุนอีก ซึ่งสินค้าหลักๆ ที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ลงทุนโดยคนอเมริกันหรือคนต่างชาติในไทย ไม่ใช่ของคนไทยทั้งหมด
สำหรับข้อกังวลของสหรัฐฯ ประเด็นเสียเปรียบดุลการค้าจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทยไม่ได้ทำ FTA กับสหรัฐฯ มีแต่ทำสนธิสัญญาไมตรีระหว่างกันมายาวนาน ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากไทยมากอยู่แล้ว ขณะที่ประเด็นเรื่องการทุ่มตลาด (AD) สินค้าไทยถูกเรียกเก็บอากรมีน้อยมาก และไม่เคยมีปัญหาค้างจ่ายอากรเลย
ส่วนประเด็นที่สหรัฐฯ มีความกังวลและปรากฏอยู่ในรายงานประเมินสถานการณ์การค้าของประเทศคู่ค้าประจำปี 2560 (NTE 2017) ของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงฯ ได้ดำเนินการในเรื่องนี้มีความคืบหน้า โดยเฉพาะในด้านการป้องกันและปราบปราม จนภาคเอกชนสหรัฐฯ เสนอให้ USTR ปรับสถานะของไทยให้ดีขึ้นมาอยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) แทนบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ที่ไทยอยู่มาเกือบ 10 ปี ในการทบทวนสถานะประจำปี 2560 ที่จะประกาศผลในสิ้นเดือน เม.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้เปิดรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อจัดทำรายงานศึกษาวิเคราะห์การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ภายใน 90 วัน โดยพุ่งเป้าหมายไปที่ 13 ชาติ คือ แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม โดยสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการคำตอบคือสาเหตุหลักของการขาดดุล โดยพิจารณาถึงนโยบายการค้าด้านต่างๆ ของประเทศคู่ค้า รวมถึงกฎระเบียบ กฎหมาย หรือการปฏิบัติที่เพิ่มภาระหรือการเลือกปฏิบัติจนเกิดความไม่เป็นธรรมต่อการค้าของสหรัฐฯ และกระทบต่อการจ้างงาน ค่าจ้าง และอุตสาหกรรมภายในของสหรัฐฯ เป็นต้น
ขณะที่รายงาน NTE ปีนี้ USTR ระบุว่า ในปี 2559 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสินค้ากับไทย 18,900 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.7% หรือ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2558 โดยสหรัฐฯ ส่งออกสินค้ามาไทย 10,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.9% หรือ 658 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่นำเข้าจากไทย 29,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.0%
สำหรับปัญหาที่สหรัฐฯ ระบุว่าเป็นอุปสรรคต่อการค้าของสหรัฐฯ เช่น การบังคับติดฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารทารกและเด็ก จำกัดนำเข้าเนื้อวัว จำกัดการนำเข้ายา วิตามิน เครื่องสำอาง ควบคุมเพดานราคาน้ำตาล น้ำมันพืช นม น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ ยา ชุดนักเรียน เก็บภาษีสรรพสามิตสินค้านำเข้าสูง และมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาก ทั้งออนไลน์ มือถือ ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย ขโมยสัญญาณดาวเทียมและเคเบิล