สหรัฐฯ เดินหน้าทำตามคำสั่ง “ทรัมป์” ไล่บี้ 13 ประเทศ รวมทั้งไทย ตอบคำถามทำไมถึงได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ สั่งให้ตอบภายใน 10 พ.ค.นี้ ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ 18 พ.ค. “พาณิชย์” เผยไม่กังวลเรื่องแทรกแซงค่าเงิน มาตรการเอดี และ FTA แต่ห่วงเรื่องละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การติดฉลากแอลกอฮอล์ และการควบคุมอาหารเด็กและทารก ที่ถูกแฉไว้ในรายงาน NTE
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ (สพต.) ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ ได้รายงานความคืบหน้ากรณีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อจัดทำรายงานศึกษาวิเคราะห์การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ภายใน 90 วัน ตามคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Executive Order) ส่งมายังกระทรวงพาณิชย์ของไทย เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ภายใต้การศึกษาครั้งนี้ จากทั้งหมด 13 ประเทศ คือ แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ขอให้ 13 ประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ ในปี 2559 ตอบคำถามถึงสาเหตุหลักของการขาดดุล โดยพิจารณารวมถึงมาตรการด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี การทุ่มตลาด (เอดี) การอุดหนุนจากรัฐบาล การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี มาตรฐานแรงงานและระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน รวมถึงการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อการค้าของสหรัฐฯ การทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) โดยกำหนดให้ผู้สนใจ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนของทั้ง 13 ประเทศ ยื่นข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในวันที่ 10 พ.ค. 2560 และจะเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะในวันที่ 18 พ.ค. 2560 ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นมีการประเมินว่าประเด็นที่ไทยไม่เข้าข่ายหรือมีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ ปัจจัยภายในประเทศเชิงโครงสร้างของสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันสหรัฐฯ ไม่มีการผลิตสินค้า และจำเป็นต้องนำเข้าจำนวนมาก และปัจจัยจากข้อผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) และ FTA ที่บั่นทอนสิทธิและประโยชน์ของสหรัฐฯ เพราะไทยไม่มี FTA กับสหรัฐฯ ส่วนมาตรการเอดี ปัจจุบันสินค้าไทยที่ถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บอากรเอดีมี 8 รายการ และที่ผ่านมาบางสินค้าไม่พบการทุ่มตลาด หรือบางรายการไม่มีการส่งออกไปสหรัฐฯ แล้ว ขณะที่การแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมนั้น ไทยไม่ได้ใช้มาตรการนี้แน่นอน
ส่วนประเด็นที่ไทยมีความกังวล ได้แก่ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ก่อให้เกิดความไม่สมดุลในการเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะประเด็นปัญหาอุปสรรคทางการค้าสำคัญที่สหรัฐฯ เพ่งเล็ง และระบุเอาไว้ในรายงานประเมินสถานการณ์การค้าของประเทศคู่ค้าประจำปี 2560 (NTE 2017) เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่สหรัฐฯ มองว่า ไทยยังมีการละเมิดมาก โดยเฉพาะการละเมิดบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ การจดทะเบียนสิทธิบัตรล่าช้า โดยจะมีการประเมินผลการทบทวนในสิ้นเดือนเม.ย.นี้ หลังจากที่จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ด้านทรัพย์สินทางปัญญามาแล้ว 9 ปี
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางเทคนิคและมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช โดยเฉพาะการยกเลิกการห้ามนำเข้าเนื้อสุกรและเครื่องในที่มีสารแรคโตพามีน (สารเร่งเนื้อแดง) และการติดฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงนโยบายนำเข้าของไทย เช่น การควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก มาตรการทางศุลกากร การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การกีดกันการค้าในภาคธุรกิจ และการลงทุน เป็นต้น