xs
xsm
sm
md
lg

จับตา 4 ธุรกิจเสี่ยงโกงประชาชน! “พาณิชย์” ร่วม 12 หน่วยงานรัฐประสานข้อมูลดูแลใกล้ชิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” ผนึกกำลังร่วมกับ 12 หน่วยงานรัฐ ป้องกันประชาชนถูกโกงซ้ำรอย “เวลท์เอเวอร์” สั่งจับตา 4 ธุรกิจเสี่ยง “ขายตรงและการตลาดแบบตรง-ท่องเที่ยว-อีคอมเมิร์ซ-จำหน่ายอาหารเสริม” หลังพบได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก เตรียมประสานข้อมูลกันอย่างใกล้ชิด พร้อมตั้งคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบธุรกิจเสี่ยง แนะประชาชนตรวจสอบข้อมูลก่อนติดต่อซื้อขายหรือร่วมธุรกิจ

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงผลการประชุมร่วม 12 หน่วยงานรัฐ ในการหามาตรการดูแลและป้องกันความเสี่ยงหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างๆ หลังจากที่บริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด ได้สร้างความเสียหายแก่ประชาชนเป็นจำนวนมากในการหลอกขายทัวร์ราคาถูกว่า ที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกันว่าควรกำหนดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคล และบุคคลที่ต้องติดตามเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (Watch List) โดยจะเน้นในธุรกิจ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจขายตรง การตลาดแบบตรง ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และธุรกิจจำหน่ายอาหารเสริม เนื่องจากธุรกิจทั้ง 4 ประเภทพบข้อร้องเรียนจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเป็นการนำร่องในการเริ่มต้นบูรณาการการทำงานร่วมกันโดยดูจากข้อร้องเรียนของประชาชนเป็นหลัก

“ขณะนี้แต่ละหน่วยงานมีข้อมูลของ 4 ธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวังอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรมฯ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมการท่องเที่ยว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการปกครอง ทำให้สามารถเชื่อมโยงและใช้ข้อมูลร่วมกันได้ทันทีก่อนออกใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยง ช่วยป้องกันความเสียหายของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงสามารถใช้ตรวจสอบนิติบุคคลหรือบุคคลต้องสงสัยที่จะกระทำความผิดในธุรกิจอื่นๆ ได้อีกด้วย”

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจขึ้นมาตรวจสอบเชิงลึกธุรกิจดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันการหลอกลวงประชาชนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยคาดว่าจะแต่งตั้งคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจได้ภายในสิ้นเดือนนี้

น.ส.บรรจงจิตต์กล่าวว่า สำหรับมาตรการดูแลและเตือนภัย แต่ละหน่วยงานจะเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรับรู้ให้กับประชาชน โดยในการตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจ ให้ตรวจสอบกับกรมฯ ตรวจสอบธุรกิจนำเที่ยว ตรวจกับกรมการท่องเที่ยว และตรวจสอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงกับ สคบ. ซึ่งจะแนะนำให้ประชาชนต้องตรวจสอบทุกครั้งก่อนที่จะติดต่อซื้อขาย หรือทำธุรกิจกับบริษัท

ส่วนการรับเรื่องร้องเรียนกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น ให้ร้องเรียนผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบได้โดยตรง ทั้งกรมการท่องเที่ยว สคบ. และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรณีมีปัญหาเรื่องอาหารเสริม และเห็นว่า น่าจะมีหน่วยงานกลางที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนจากการถูกฉ้อโกงหรือหลองลวง โดยเบื้องต้นเห็นว่าควรจะเป็นศูนย์ดำรงธรรม เพราะมีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ ก่อนที่จะส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเอาผิดกับผู้ที่กระทำความผิด

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวจะมีการวางระบบการตรวจสอบทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่เข้าข่ายการหลอกลวง ฉ้อโกงประชาชนอย่างเข้มงวด โดยกรมฯ เตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่วนอื่นๆ เช่น กรมสรรพากร สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้ามาร่วมในการเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้ธุรกิจโดยรวมของประเทศมีความน่าเชื่อถือและโปร่งใส รวมทั้งเป็นการอุดช่องโหว่ ปิดช่องว่าง มิให้บริษัทที่ได้จดทะเบียนนำธุรกิจมาหาประโยชน์โดยมิชอบหลอกลวงประชาชนได้อีกต่อไป

สำหรับ 13 หน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กรมการปกครอง กรมสวบสวนคดีพิเศษ กรมบังคับคดี กรมการท่องเที่ยว และกรมที่ดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น