พนักงาน-สหภาพฯ การบินไทยยื่น “นายกฯ” ตรวจสอบความโปร่งใส บอร์ดการบินไทย เรียกร้องเปลี่ยนประธานและบอร์ดใหม่ ชี้ “อารีพงศ์” นั่งบอร์ดยาวนานแต่แก้ขาดทุนไม่ได้ ขณะที่ปี 59 โชว์กำไร 47 ล้านตัวเลขหลอกลวง เหตุเป็นกำไรจากภาษีไม่ใช่ผลการดำเนินงาน ชี้ยอดขายตก ค่าใช้จ่ายเพิ่ม ตอกย้ำแผนปฏิรูปล้มเหลว
วันนี้ (18 เม.ย.) ตัวแทนพนักงาน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กว่า 30 คน นำโดย นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานพนักงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย รวมตัวกันที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ตรวจสอบคณะกรรมการ (บอร์ด) และฝ่ายบริหาร บริษัท การบินไทย ในการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส ส่งผลให้ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง จากนั้นได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงคมนาคมเพื่อร้องเรียนเช่นกัน
นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพฯ การบินไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้เคยยื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้วเพื่อให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งหมดในบริษัทการบินไทย โดยตั้งคณะกรรมการพิเศษโดยเฉพาะเพื่อตรวจสอบและให้ปฏิรูปทั้งระบบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสไร้ทุจริตและประพฤติมิชอบแบบยั่งยืน แต่รัฐบาลยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จึงรวมตัวกันมายื่นหนังสืออีกครั้ง และในวันพรุ่งนี้ (19 เม.ย.) จะไปยื่นหนังสือต่อ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป ประธานคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปปราบทุจริต (สปท.) เพื่อขอให้ช่วยติดตามเรื่อง
ทั้งนี้ ปัญหาที่ทำให้การบินไทยประสบกับการขาดทุนมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551-2559 ยาวนานถึง 9 ปีเกิดจากการบริหารที่ผิดพลาด การตัดสินใจที่ผิดพลาดของบอร์ด ซึ่งมี นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม เป็นประธานมาตั้งแต่ปี 2552 ขณะที่นายคณิศ แสงสุพรรณ เป็นกรรมการมายาวนาน ต่อมา นายจรัมพร โชติกเสถียร เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) แต่ไม่ได้มีการแก้ปัญหาใดๆ ดังนั้น ถึงเวลาที่รัฐบาลควรปรับเปลี่ยนบอร์ดใหม่ได้แล้ว ซึ่งการบินไทยประกอบธุรกิจการบิน ต้องหารายได้ ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ บอร์ดและดีดีต้องเป็นนักการตลาดที่มีความรู้ความชำนาญในธุรกิจ แต่การบริหารที่ผ่านมาบอร์ดและอดีตดีดีไม่เชื่อไม่ฟังความเห็นของคนการบินไทย แต่กลับไปจ้างฝรั่งเป็นที่ปรึกษา สุดท้ายแผนปฏิรูปไม่ได้ผลอะไร บริษัทยังขาดทุน
“ปี 2559 ผลประกอบการมีกำไรเพียง 46.8 ล้านบาท เป็นกำไรที่เกิดขึ้นจากการได้รับคืนภาษี เพราะถ้าย้อนไปที่ผลประกอบการก่อนหักภาษีตัวเลขขาดทุนถึง 1,417 ล้านบาท สะท้อนว่าตัวเลขกำไรที่เห็นไม่ได้เกิดจากการบริหารงาน ไม่ใช่ตัวเลขจริง และมองลึกลงไปบริษัทมียอดขายลดลง รายได้ลดลง ส่วนรายจ่ายเพิ่มขึ้นสวนทางกัน เท่ากับการแก้ปัญหาที่ผ่านมาไม่ถูกจุด”
โดยสาเหตุของการขาดทุนส่วนหนึ่งมาจากการทุจริตซื้อเครื่องบินตั้งแต่อดีต ซึ่งต้องการให้รัฐบาลตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติจำหน่ายเครื่องบินรุ่น AIRBUS 330-300, AIRBUS 340-600 และ BoEiNG 747-700 ที่ดัดแปลงเป็นเครื่องบินรับส่งสินค้า ทั้งหมดเป็นเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานเหลือ 6-8 ปี แต่บริษัทกลับนำกลับมาจอดทิ้งไว้ ส่งผลให้บริษัทได้รับความเสียหาย ปรากฏเป็นผลขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบินในงบการเงินระหว่างปี 2551-2559 รวม 30,134 ล้านบาท หรือเฉลี่ยขาดทุนปีละ 6,600 ล้านบาท โดยเฉพาะเครื่องบินแอร์บัส 340-500 จำนวน 4 ลำ โดยปัจจุบันขายให้กองทัพอากาศไปแล้ว 1 ลำ เหลือ 3 ลำจอดรอขายไม่ออกเนื่องจากเป็นเครื่องบินที่ไม่มีใครใช้งานแล้วจึงขายไม่ออก และจะต้องขายในราคาถูก หรือต่ำกว่าบัญชีมาก ปัญหาทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้อยค่าเครื่องบิน
โดยได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อให้ตรวจสอบ กรณีคณะกรรมการบริษัทมีมติให้จำหน่ายเครื่องบินที่ยังมีอายุการใช้งานเหลือประมาณ 6-8 ปี และจอดทิ้งเพื่อรอการขายรวม 17 ลำ, ความล้มเหลวของแผนปฏิรูป, การจัดตั้งไทยกรุ๊ป โดยนำเอา บมจ.การบินไทย, บจ.ไทยสมายล์ แอร์เวย์ และ บมจ.สายการบินนกแอร์ มาบริหารจัดการร่วมกัน โดยสายการบินนกแอร์ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ ส่งผลให้เกิดการขาดทุนสะสมประมาณ 5,574 ล้านบาท, การสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ไม่โปร่งใส และพฤติการณ์ของที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (นายจรัมพร โชติกเสถียร) มีการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง รวมทั้งคณะกรรมการบริษัทและฝ่ายบริหารไม่ร่วมมือสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริต จึงขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาตรวจสอบ
นอกจากนี้ ควรต้องเร่งสรรหาดีดีคนใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสรรหา มีการขยายเวลารับสมัครออกไปทั้งที่ยังไม่ถึงวันปิดรับสมัครและมีผู้สมัครแล้วถึง 6 ราย ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงการเล่นพรรคเล่นพวก โดยขณะนี้มีผู้ผ่านคุณสมบัติ 4 ราย และจะเปิดให้แสดงวิสัยทัศน์ในวันที่ 3 พ.ค. แต่พนักงานส่วนใหญ่เชื่อว่าจะไม่ได้ตัวผู้ที่ผ่านเกณฑ์หลังแสดงวิสัยทัศน์อีก