ครม.ไฟเขียวงบ 988.89 ล้านบาท ผูกพัน 3 ปี (60-62) ขยายถนนราชพฤกษ์ ตอนที่ 3 ช่วงถนนรัตนาธิเบศร์-ทางหลวงหมายเลข 345 ระยะทาง 8.367 กม. เป็น 10 ช่องจราจร เชื่อมโครงข่ายกรุงเทพฯ แนวเหนือ-ใต้ รองรับปริมาณจราจรแน่น แก้คอขวด
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (18 เม.ย.) ได้อนุมัติให้ผูกพันก่อหนี้ข้ามปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ที่มีวงเงินรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปสำหรับโครงการก่อสร้างขยายถนนราชพฤกษ์ ระยะที่ 2 (ตอนที่ 3) ช่วงถนนรัตนาธิเบศร์-ทางหลวงหมายเลข 345 ระยะทาง 8.367 กม. (กม.22+900-กม.31.250) งบประมาณ 988.89 ล้านบาท ผูกพันปี 60-62 ทั้งนี้ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ก่อสร้างขยายถนนราชพฤกษ์ ระยะที่ 2 (ตอนที่ 1) ช่วงคลองมหาสวัสดิ์-ถนนรัตนาธิเบศร์ ระยะทาง 8.8 กม. (กม.14+100-กม.22+900) แล้วเสร็จ และเปิดใช้งานตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2558 และอยู่ระหว่างขยายตอนที่ 2 ช่วงซอยจรัญสนิทวงศ์ 13-คลองมหาสวัสดิ์ ระยะทางประมาณ 7.5 กม. (กม.6+600-กม.14.100) ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ค. 2560 ซึ่งจะรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีถึง 55,000 คัน/วัน ทำให้เกิดคอขวดในบางช่วง
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า แนวถนนราชพฤกษ์ ตัดผ่านจากถนนเพชรเกษม ถนนบรมราชชนนี ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เข้าสู่จังหวัดนนทบุรี ผ่านถนนนครอินทร์ ถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนชัยพฤกษ์ และสิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข 345 ระยะทางรวม 31 กม. เดิมมีขนาด 6 ช่องจราจร ทช.ได้ก่อสร้างทางคู่ขนานเพิ่มเติมฝั่งละ 2 ช่องจราจร รวมจากเดิมเป็น 10 ช่องจราจร พร้อมทางเท้าและระบบระบายน้ำ โดยยังขาดตอนที่ 3 ซึ่งขณะนี้ได้ประกวดราคาจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยบริษัท ทิพากร จำกัด ร่วมกับบริษัท กิจการร่วมค้า พีซีที จำกัด เสนอราคาต่ำสุด ซึ่งจะเร่งลงนามสัญญา โดยในปี 60 จะเบิกจ่ายงบ 20% หรือประมาณ 247.2 ล้านบาท และผูกพันงบประมาณปี 2561 และงบประมาณปี 2562 เป็นเงิน 494.4 ล้านบาท และ 248 ล้านบาท