ร.ฟ.ท.เตรียมแผนเดินรถสายสีแดงและบริหารความเสี่ยง จ่อเสนอ “คมนาคม” และ คนร. ขอเดินรถเอง บอร์ดสั่งทำข้อมูลเพิ่ม ปรับเป้าประมาณการณ์ผู้โดยสารปี 63 เหลือ 1.1-1.4 แสนคน/วัน จากเดิมคาดมี 2 แสนคน/วัน พร้อมแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์และการตั้งบริษัทลูกเดินรถ แยกบริหารเหมือนเอกชนเพื่อความคล่องตัว “พิชิต” ขอดูรายละเอียดก่อนชง คนร.พิจารณา
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเดินรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ว่าขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดรูปแบบการบริหารจัดการการเดินรถสายสีแดง เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคม โดยเบื้องต้นคาดว่า ร.ฟ.ท.จะเสนอขอเดินรถสายสีแดงเอง ซึ่งในฐานะผู้กำกับดูแลจะพิจารณารายละเอียด ในเรื่องการบริหารจัดการว่าจะมีประสิทธิภาพมากพอหรือไม่ การเดินรถจะทำให้เป็นภาระกับ ร.ฟ.ท.ในอนาคตหรือไม่ เนื่องจากต้องยอมรับว่าเรื่องเดินรถเองหรือให้เอกชนเข้ามาเดินรถ ล้วนมีข้อท้วงติงทั้ง 2 รูปแบบ ซึ่งกระทรวงคงต้องพิจารณาเร็วๆ นี้ เพื่อเสนอต่อไปยังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานต่อไป
ทั้งนี้ ในการให้บริการรถไฟสายสีแดงนั้น มี 2 ส่วน คือ การบริหารจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการบริหารด้านการเดินรถ ซึ่งการเดินรถมีทางเลือก ทั้งรูปแบบที่ ร.ฟ.ท.เดินรถเอง หรือให้เอกชนเข้ามาเดินรถ ซึ่งกรณีที่ ร.ฟ.ท.จะเดินรถเอง ร.ฟ.ท.จะต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการให้มีความเป็นเอกชนมากขึ้น ซึ่งการจัดตั้งบริษัทลูก ด้านการบริหารการเดินรถ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วย เพราะการเดินรถจะต้องมีความคล่องตัวในการจัดหาบุคลากร การจัดการงบประมาณ และต้องมีข้อกำหนดใน เรื่อง KPI เพื่อชี้วัด และสามารถเทียบเคียงได้กับการบริหารงานของเอกชน
“ตอนนี้ ร.ฟ.ท.ยังไม่สรุปเรื่องรูปแบบและรายละเอียดการบริหารจัดการ เสนอมาที่ผมเลยว่า ร.ฟ.ท.จะมีศักยภาพในการเดินรถสายสีแดงได้หรือไม่ หากดูแล้วเห็นว่าทำได้จะเสนอ คนร.ต่อไป”
ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่า ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ได้ทำแผนงานเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ที่มีนายวรวิทย์ จําปีรัตน์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยบอร์ดได้เห็นชอบในหลักการตามแผนเดิม คือ ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้บริหารการเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงเอง โดยให้ทำข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเตรียมสรุปเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาตามขั้นตอนก่อนเสนอ คนร.ต่อไป โดยมีเป้าหมายเปิดเดินรถสายสีแดงในปี ในเดือนมิถุนายน 2563
แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า รถไฟชานเมืองสายสีแดงเป็นโครงข่ายที่สำคัญ แนวเส้นทาง ถือเป็น โครงสร้างพื้นฐานหลัก เป็น Backbone ที่จะมีการต่อเชื่อมได้กับหลายโครงการ ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้นรัฐควรบริหารอง เพราะการให้เอกชนบริหารอาจจะมีปัญหาในอนาคตได้ โดยก่อนหน้านี้ คนร.ยังไม่มั่นใจในขีดความสามารถของ ร.ฟ.ท.ในการบริหารการเดินรถ ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้ศึกษาทบทวนประมาณการจำนวนผู้โดยสารใหม่ จากเดิมที่คาดว่าเมื่อเปิดเดินรถในปี 2563 จะมีผู้โดยสารประมาณ 200,000 คน/วัน ปรับเป็น 140,000 คน/วัน ซึ่งจะทำให้มีกำไรเล็กน้อย
ทั้งนี้ บอร์ด ร.ฟ.ท.ให้ทำข้อมูลเพิ่มเติม เช่น คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารสูงไปหรือไม่ เนื่องจากบางสถานีไม่ได้เป็นชุมชน เข่น สถานีรังสิต และแผนบริหารความเสี่ยงต่างๆ และมีตัวอย่างของรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ปริมาณผู้โดยสารจริงต่ำกว่าประมาณการณ์มาก
ดังนั้น คาดการณ์ผู้โดยสารสายสีแดงที่ปรับใหม่ ที่ 140,000 คน/วัน ถือว่าค่อนข้างต่ำอยู่แล้วซึ่งกรณีที่ยังต่ำกว่าประมาณการ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 110,000 คน/วัน ซึ่งยังอยู่ในจุดคุ้มทุน (Break even point) เนื่องจากแนวเส้นทางมีโครงข่ายเชื่อมต่อ เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) เชื่อมต่อได้ที่บริเวณงามวงศ์วาน หลักสี่ จะเกิดการส่งต่อผู้โดยสาร และระบบตั๋วร่วม จะทำให้การใช้ระบบรางมีความสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ จะมีแผนการพัฒนาเชิงพาณิชย์ต่างๆ เพื่อทำให้มีรายได้อุดหนุนด้านการโดยสารอีกด้วย ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะจัดตั้งบริษัทลูกด้านการเดินรถขึ้นมาทำหน้าที่ เพื่อให้แยกการบริหารออกจาก ร.ฟ.ท.มีความคล่องตัวเหมือนเอกชน