xs
xsm
sm
md
lg

รวมสัมปทานไฮสปีด-แอร์พอร์ตลิงก์! กก.EEC ชู Single Operator เชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คณะกรรมการ EEC จัดงบ 100 ล้านเร่ง “คมนาคม-ร.ฟ.ท.” ศึกษารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พร้อมประมูลคัดเลือกผู้ให้บริการภายในสิ้นปี 60 “อาคม” ระบุนโยบาย Single Operator บริหารการเดินรถเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ พร้อมสั่งชะลอแอร์พอร์ตลิงก์ต่อขยายพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมรับมติคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เห็นชอบให้ปรับปรุงแผนงานขนส่งมวลชนทางราง โดยให้ใช้รถไฟความเร็วสูงในการเชื่อมการเดินทาง 3 สนามบิน คือ อู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง พร้อมจัดสรรงบประมาณ 100 ล้านบาทสำหรับดำเนินการศึกษา โดยหลักการจะศึกษาแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง กรณีต้องเชื่อมเข้าสนามบินอู่ตะเภา จะมีค่าลงทุนเท่าไร มีความเหมาะสมอย่างไร ส่วนการเชื่อมเข้าสู่สนามบินสุวรรณภูมิ ควรจะใช้ระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่มีเส้นทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิอยู่แล้ว โดยใช้สถานีลาดกระบังเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์หรือไม่ และช่วงที่เชื่อมไปสู่สนามบินดอนเมืองจะใช้ระบบอะไร โดยขณะนี้ต้องชะลอโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ส่วนต่อขยาย “พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง” ไว้ก่อนเพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประกอบการศึกษาดังกล่าว

โดยจะคัดเลือกที่ปรึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนนี้เพื่อเร่งการศึกษาโดยเร็ว ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อนุมัติจัดจ้างที่ปรึกษาแล้ว ทั้งนี้ คณะกรรมการ EEC กำหนดให้สรุปการศึกษาและคัดเลือกผู้รับงานในการบริหารรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินภายในสิ้นปี 2560

“ต้องรอการศึกษาก่อนว่ารูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการบริหารดังกล่าวควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งฝ่ายเลขาฯ EEC เสนอให้เป็น Single Operator ในการบริหาร ดังนั้น หากยึดแนวทางศึกษาโครงการเดิม จากกรุงเทพฯ-ระยอง จะเป็นระบบรถไฟความเร็วสูง ผู้บริหารโครงการจะต้องเป็นรายเดียวกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ หมายความว่าผู้ให้บริการรถไฟความเร็วสูงจะต้องเป็นผู้ให้บริการ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ด้วย ซึ่งจะมีหลายวิธีในการบริหารการเดินรถแบบไร้รอยต่อ สำหรับการเชื่อม 3 สนามบิน โดยสามารถพิจารณาเรื่องการเชื่อมต่อระหว่างระบบก็ได้ ซึ่งจะมีความคุ้มค่ากว่าการใช้ระบบเดียววิ่งตลอดเส้นทาง เชื่อม 3 สนามบิน EEC ไม่ได้ห้าม” นายอาคมกล่าว

โดยตลอดแนวเส้นทางระหว่าง 3 สนามบินจะมีสถานีรถไฟที่สำคัญ สามารถพัฒนาพื้นที่รอบสถานีในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ, สถานีลาดกระบัง, สถานีมักกะสัน, สถานีพญาไท
กำลังโหลดความคิดเห็น