เพราะล่าสุด เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ฟ้าผ่าพาราควอตเมืองไทย ห้ามขึ้นทะเบียน ต่อทะเบียนใหม่ ตั้งแต่บัดนี้ และเลิกใช้โดยสิ้นเชิงนับแต่ 1 ธันวาคม 2562 ประเทศที่ใช้พาราควอตและไม่ใช้พาราควอตล้วนมีเหตุผลของตัวเองภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน ไม่ใช่เรื่องการเลียนแบบใครประการใด
พาราควอต มีการใช้ปีหนึ่ง 20 กว่าล้านกิโลกรัม น้อยกว่าไกลโฟเสทครึ่งหนึ่ง แค่สาร 2 ตัวนี้ก็เกินครึ่งหนึ่งของสารกำจัดวัชพืชทั้งประเทศ สะท้อนการใช้อย่างมีนัยสำคัญทีเดียว
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ห้ามใช้ หรือ Ban พาราควอค จะ Ban ก็ทำไปเถอะ แต่ต้องอยู่บนความถูกต้อง ชอบธรรม เพราะประเทศไทยก็ Ban สารเคมีเกษตรเรื่อยมา บางตัวอันตรายมากๆ ป้องกันไม่ได้ บางตัวก็เสื่อมฤทธิ์ เกิดการดื้อยา บางตัวก็ไปสร้างผลข้างเคียงกระทบภาพแวดล้อม และ ฯลฯ
ประเด็นอยู่ที่กระบวนการ Ban เข้าท่าชอบธรรมไหม? เท่านั้นเอง
สิ่งที่สร้างความประหลาดใจใหญ่หลวงได้แก่ คนที่ Ban กลับเป็นหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข ที่มี นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ในนามคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ร้ายแรง
มันเป็นงานของกระทรวงสาธารณสุขแน่ละหรือ?
มิหนำซ้ำ พอแถลงข่าว โดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข วันที่ 5 เมษายนปัง วันนั้นออเดอร์สั่งซื้อสารพาราควอตก็ระงมไปทั่วบริษัท ร้านค้าที่ขาย เพราะยังไงเกษตรกรก็ยังคงต้องใช้ และเมื่อดีมานด์พุ่ง ซัปพลายเท่าเดิม ราคาก็โด่งแกลลอน (5 ลิตร) ละ 20-50 บาทในทันที กลายเป็นเกษตรกรเคราะห์ร้ายโดยไม่ทันรู้ตัว และ รมว.สาธารณสุขเองก็คงไม่ประสาถึงผลกระทบนี้
กระบวนการที่ถูกต้องในการประกาศห้ามหรือ Ban เป็นอย่างไร
1. เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ผู้ดูแลกฎหมาย พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2551 ทั้งความรู้เรื่องพิษวิทยากระทั่งการใช้และผลกระทบต่อพืช รวมทั้งเกษตรกรผู้ใช้และผู้บริโภค เมื่ออนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้ พอเวลาจะยกเลิกหรือ Ban ก็เป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรเช่นกัน
เพียงแต่เริ่มต้นจากกรมวิชาการเกษตรก่อน แล้วไปที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนหลายกระทรวง แล้วถึงค่อยประกาศห้ามใช้
นี่ยังไม่ทันไร กระทรวงสาธารณสุขเป็นคนเริ่มต้นเสียเอง แล้วก็เออเอง ประกาศห้ามใช้เลย ก็ต้องถามว่า เอาอำนาจมาจากไหน?
แล้วถ้ากระทรวงเกษตรฯ ประกาศ Ban ยาพาราเซตามอลที่คนนิยมใช้บ้าง กระทรวงสาธารณสุขจะว่าไง?
2. ที่จริงคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ คงไม่กล้าฟันธงขนาดห้าม แต่เป็นเพราะกรมวิชาการเกษตรเองกลับเออออห่อหมกไปด้วย โดยนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ส่งนายศรัณย์ วัธนธาดา ผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมพืช ไปเป็นตัวแทนและไปเสนอว่ายกเลิกสารพาราควอตเสียเอง
นายศรัณย์เชี่ยวชาญเรื่องอย่างนี้โดยตรงหรือก็เปล่า แต่ไปในนามอธิบดี นั่นย่อมหมายความว่านายสุวิทย์ตัดสินใจ Ban เอง ก็ต้องมีคำถามว่า ตัดสินใจ Ban โดยมีหลักการหรือข้อมูลจากไหน โดยปกติกรมวิชาการเกษตรจะมีคณะกรรมการเฝ้าระวังอยู่แล้ว แต่ไม่ปรากฏพาราควอตอยู่ในสารเฝ้าระวังเลย มันจึง..แปลกดีนะ
4. กรมวิชาการเกษตร โดยอธิบดีสุวิทย์จะเปิดรับฟังผู้ประกอบการสารเคมีเกษตรในราวปลายเดือนเมษายนนี้ ซึ่งแจ้งหลังวันที่ 5 เมษายนไปแล้ว แล้วจะไปรับฟังผู้ประกอบการทำไม ในเมื่อตัวเองมีคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษรเสนอให้ Ban ก่อนวันที่ 5 เมษายนด้วยซ้ำ จะแก้เกี้ยวทั้งที น่าจะดีกว่านี้
5. พูดถึงคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชชุดใหญ่ที่มี นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข เป็นประธานนั้น กรรมการจะประกอบด้วยคนในแวดวงสาธารณสุขและเอ็นจีโอ รวมทั้งคนฝักใฝ่เอ็นจีโอ
ไม่มีตัวแทนเกษตรกร ผู้ใช้ตัวจริง แม้แต่คนเดียว
ที่สำคัญ นอกจากมีนางอมรรัตน์ นีละนิธิกุล ผอ.ศูนย์นโยบายแห่งชาติด้านสารเคมี เป็นกรรมการและเลขานุการแล้ว ยังมีชื่อ น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช (Thai PAN) เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม
Thai PAN เป็นศัตรูคู่อาฆาตกับสารเคมีเกษตร จึงไม่แปลกแม้แต่นิดเดียวที่มติคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ จะ Ban สารพาราควอต ตามการชี้นำจากเอ็นจีโอกลุ่มนี้
อยากรู้เหลือเกินว่า ราชการหมดปัญญา Ban พาราควอตเอง ถึงกับต้องหยิบยืมมือเอ็นจีโอเข้าจัดการแล้วหรือ