บางจากฯ ได้รับอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์ เปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” เพื่อรองรับการขยายธุรกิจต่อเนื่องนอกเหนือโรงกลั่นและค้าปลีกน้ำมัน ทั้งธุรกิจชีวภาพ และธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี2560 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ที่อนุมัติให้แก้ไขชื่อบริษัท จาก “บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)” ภาษาอังกฤษ “The Bangchak Petroleum Public Company Limited” เปลี่ยนเป็นชื่อใหม่ ภาษาไทยเป็น “บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” และชื่อภาษาอังกฤษ เป็น “Bangchak Corporation Public Company Limited” โดยได้รับอนุมัติการจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2560 เป็นต้นไป ซึ่งสถานที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ และโรงกลั่นน้ำมันบางจากยังคงเป็นสถานที่เดิม รวมทั้งตราสัญลักษณ์บริษัท (โลโก้) และชื่อย่อหลักทรัพย์ ยังคงใช้เป็น “BCP”
ปัจจุบัน บางจากฯ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 32 การเปลี่ยนชื่อบริษัทในครั้งนี้เป็นการปรับภาพลักษณ์ขององค์กรและสร้างความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากไม่เพียงดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและค้าปลีกน้ำมันสำเร็จรูปเท่านั้น แต่ในอนาคตจะขยายธุรกิจออกไปครอบคลุมทั้งธุรกิจต่อเนื่องและธุรกิจที่สนับสนุนธุรกิจหลักที่มีการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมขั้นสูง เรามีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม Bangchak Initiative Innovation Center : BIIC ใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาปี 2560 กว่า 300 ล้านบาท เพื่อต่อยอดธุรกิจชีวภาพ ธุรกิจสีเขียว ซึ่งจะขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนเศรษฐกิจยุค 4.0 โดยมุ่งสู่กลุ่มบริษัทนวัตกรรมสีเขียวชั้นนำในเอเชีย
ทั้งนี้จะขยายธุรกิจชีวภาพ (BIO Product) และธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติที่ประกอบด้วยการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) และเหมืองลิเธียม ให้เป็นตัวขับเคลื่อนเพิ่มเติมในการเติบโตของบางจากสู่การเป็นบริษัทชั้นนำ จากเดิมที่มีกลุ่มธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่น กลุ่มธุรกิจตลาด และกลุ่มธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ บริหารโดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท บางจากฯ ที่มีการลงทุนในประเทศไทย ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์
สำหรับเป้าหมายการสร้างรายได้ คาดว่าจะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) ของธุรกิจชีวภาพ และธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ ขยายตัวร้อยละ 20 ต่อปี การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนี้จำเป็นต้องหาธุรกิจที่สร้างรายได้ เพื่อให้มีความเติบโตตามแผน ซึ่งจะมาจากธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ต่อยอดจากการผลิตไบโอดีเซลและเอทานอลในปัจจุบัน และธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
ปัจจุบัน บริษัท บางจากฯ ได้พัฒนานวัตกรรมต่อยอดธุรกิจไบโอฟูเอล และไบโอดีเซลบี 100ในโครงการผลิตภัณฑ์ชีวภาพหรือผลิตภัณฑ์ PCMซึ่งเป็นสารส่วนประกอบของฉนวนเก็บความร้อนที่จะคลายความร้อนในช่วงเย็นถึงกลางคืนแต่จะถนอมความร้อนในช่วงกลางวัน สำหรับขายในประเทศที่มีอากาศหนาว มีเป้าหมายเน้นผลิตเพื่อขายในประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 2 ของปีนี้ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนเป็นโครงการนำร่องเพื่อขยายไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งมีแผนจะตั้งโรงงานผลิต PCM เชิงพาณิชย์ที่จังหวัดฉะเชิงเทราเพื่อต่อยอดการลงทุน ซึ่งบางจากฯ มีพื้นที่อยู่ประมาณ 500 ไร่ โดยได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐสนับสนุนภายใต้โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาสาหร่าย เพื่อผลิตเป็นส่วนประกอบของอาหารเสริมและผลิตภัณฑ์ยาด้วยที่สามารถรองรับนโยบายด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ (Biotech)
นอกจากนี้ บริษัท บางจากฯ จะขยายธุรกิจ Energy Storage นำแร่ลิเธียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อใช้สำหรับการกักเก็บไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และส่งไฟฟ้าขาย โดยจะทยอยเข้าไปซื้อหุ้นในเหมืองแร่ลิเธียมของบริษัท Lithium Americas Corp. หรือ LAC ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โทรอนโต ประเทศแคนาดา ที่ดำเนินโครงการเหมืองลิเธียมในประเทศอาร์เจนตินา และสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอีก จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 16.4 โดยจะพิจารณาการเข้าซื้อเพิ่มหลังจากที่เหมืองแร่ลิเธียมทำการผลิตในช่วงปี 2562แล้ว ด้วยกำลังผลิต 25,000 ตันต่อปี ในระยะแรก เนื่องจากสร้างผลตอบแทนค่อนข้างดี เพราะมีต้นทุนการผลิตที่ประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อตัน แต่มีราคาขายอยู่ที่ 20,000 บาทต่อตัน โดยมีตลาดใหญ่อยู่ที่ประเทศจีน