งานจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ถือเป็นหัวใจของการชลประทานที่ต่อเนื่องจากงานพัฒนาแหล่งน้ำชลประทานที่กักเก็บน้ำต้นทุนไว้ และงานระบบชลประทาน ได้แก่ คลองส่งน้ำสายหลัก สายซอย สายแยกซอย เพราะงานจัดรูปที่ดินจะมีระบบคูน้ำที่สามารถแพร่กระจายน้ำจากคลองส่งน้ำเข้าถึงไร่นาโดยตรงและทั่วถึง
เปรียบไปแล้ว งานระบบชลประทานอาจเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ ในขณะงานจัดรูปที่ดินเปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยที่ลำเลียงเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทุกส่วนอย่างทั่วถึง
นโยบายการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศไว้ว่าไปแล้วก็ตรงกับเนื้องานจัดรูปที่ดิน เพราะการมีระบบคูน้ำส่งน้ำเข้าถึงแปลงไร่นาโดยตรง ช่วยเพิ่มผลผลิตโดยตรงอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ลดต้นทุนการผลิตจากความสะดวกในการได้น้ำ ในการขนส่งปัจจัยการผลิตเข้าไร่นา ตลอดจนขนส่งผลผลิตออกไปขายโดยสะดวก เพราะในงานจัดรูปที่ดินนอกจากจัดรูปแปลงที่ดินแล้วยังมีเส้นทางลำเลียงรองรับอีกด้วย
ไม่นับเกษตรแปลงใหญ่ประชารัฐที่สามารถใช้พื้นที่จัดรูปที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยตรงได้อีกด้วย เพราะมีระบบกระจายน้ำพร้อม เส้นทางลำเลียงพร้อม เหลือแต่การเข้ามาบูรณาการของหน่วยงานเกี่ยวข้องในพื้นที่เท่านั้น
แต่เพราะกฎหมายจัดรูปที่ดินที่จำกัดสิทธิการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เว้นแต่เพื่อการเกษตรกรรมอย่างเดียว หรือต้องได้รับการยินยอมจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดนั้นๆ รวมทั้งการที่เกษตรกรต้องจ่ายค่าจัดรูปที่ดินร่วมกับรัฐ จึงทำให้การขยายพื้นที่จัดรูปที่ดินเป็นไปได้อย่างช้าๆ อีกทั้งเกษตรกรในพื้นที่โครงการชลประทานเดิมๆ ที่ได้รับน้ำสะดวกอยู่แล้วก็ไม่ประสงค์จะจัดรูปที่ดิน ทำให้จนถึงขณะนี้มีพื้นที่จัดรูปที่ดินทั่วประเทศเพียง 1.1 ล้านไร่เท่านั้น
นางมณี วงศ์ษาพาน หัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดหนองคาย สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนงานจัดรูปที่ดินในจังหวัดหนองคายส่วนที่เพิ่มเติมจากปีงบประมาณประจำปี 2561 ว่าจังหวัดหนองคายให้ความสนใจงานจัดรูปที่ดินมากเพราะเห็นว่ามีความสอดคล้องกับโครงการตามแผนพัฒนาภาค ภายใต้แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้เศรษฐกิจภายในประเทศ ที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้
“จังหวัดหนองคายโดยท่านรองผู้ว่าฯ ประสงค์ คงเคารพธรรม ได้พิจารณาแผนงานจัดรูปที่ดินในพื้นที่จังหวัดหนองคาย และพบว่าไม่ทันบรรจุไว้ในปีงบประมาณปี 2561 ท่านจึงอนุมัติงบประมาณ 15 ล้านบาทให้ ทั้งงานสำรวจพื้นที่ งานออกแบบ และงานปรับปรุงพื้นที่จัดรูปเดิม ทำให้เราสามารถขับเคลื่อนงานจัดรูปที่ดินเพิ่มเติมในปี 2561ได้ และเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรเร็วขึ้น” นางมณีกล่าว
รายละเอียดแผนงานที่ได้รับอนุมัติงบประมาณพิเศษดังกล่าวของทางจังหวัดหนองคาย ประกอบด้วย
งานสำรวจพื้นที่โครงการ จำนวน 7,300 ไร่ ประกอบด้วย โครงการห้วยทอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.โพธิ์ตาก จำนวน 4,700 ไร่ และโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าฝายแตก ต.หินโฮม อ.เมือง จำนวน 2,600 ไร่
งานออกแบบโครงการ จำนวน 5 โครงการ 24,100 ไร่ ประกอบด้วย โครงการหินโฮม อ.เมือง 1,700 ไร่ โครงการห้วยโมง ครอบคลุมพื้นที่ อ.ศรีเชียงใหม่ และ อ.โพธิ์ตาก รวม 12,640 ไร่ โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าโนนหนามแพ่ง ต.ชุมช้าง อ.โพนพิสัย 2,700 ไร่ โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโพนทัน ต.ชุมช้าง อ.โพนพิสัย 3,100 ไร่ และโครงการสถานีสูบบ้านชุมฐาน ต.ชุมช้าง อ.โพนพิสัย 3,960 ไร่
งานปรับปรุงพื้นที่จัดรูปที่ดินเดิม ต.หนองนาง อ.ท่าบ่อ จำนวน 350 ไร่ ซึ่งรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยบังพวน และมีสภาพชำรุดทรุดโทรม
โครงการพัฒนาภาค ภายใต้แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้เศรษฐกิจภายในประเทศของรัฐบาลส่วนกลาง จึงเท่ากับเป็นการเติมเต็มโครงการดีๆ ที่มีประโยชน์ในพื้นที่ที่ยังขาดงบประมาณให้สามารถเดินหน้าและเกิดประโยชน์แก่ประชาชนได้ ดังกรณีตัวอย่างงานจัดรูปที่ดิน จ.หนองคาย