xs
xsm
sm
md
lg

ค่าก่อสร้างสีน้ำเงินโป่งเกือบพันล้าน เหตุน้ำผุดใต้ดินท่วมรางสถานีวังบูรพา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ จากเฟสบุ้ค ประชาสัมพันธ์  รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
อุโมงค์ใต้ดินรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน เจอปัญหาน้ำผุดท่วมรางสถานีวังบูรพา ด้าน ITD ปรับการก่อสร้างทำค่างานโป่ง ยื่นขอเคลมเกือบพันล้าน รฟม.ยันไม่จ่าย เหตุแจ้งภายหลังจากที่ตกลงแบบก่อสร้าง เอกชนต้องรับผิดชอบเอง ขณะที่สัญญาก่อสร้างขยายตามมติ ครม.ช่วยค่าแรง 300 บาท รวม 16 เดือน

นายภคพงค์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงการก่อสร้างงานโยธา รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระว่า สัญญาที่ 1 โครงสร้างอุโมงค์ใต้ดินช่วงหัวลำโพง-สนามไชย ระยะทาง 2.85 กิโลเมตร ที่มีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งมีปัญหาสถานีวังบูรพามีสภาพดินและสภาพน้ำใต้ดินมากจนไม่สามารถเทพื้นได้นั้น ขณะนี้ รฟม.และผู้รับจ้างได้แก้ไขปัญหาร่วมกันแล้ว โดยปรับวิธีการก่อสร้างใช้การ Grout Blanket (การฉีดวัสดุที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน) เข้ามาช่วย และทยอยเทพื้นอุโมงค์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.หรือต้นเดือน พ.ค.นี้

รายงานข่าวแจ้งว่า ปัญหาของสถานีวังบูรพา คือ หลังเทพื้นและวางรางไปแล้วมีน้ำผุดขึ้นมาจากใต้ดินจนท่วมราง ทางผู้รับเหมาจึงได้ใช้การ Grout มาช่วยแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 100% น้ำใต้ดินยังคงผุดอยู่

รองผู้ว่าฯ รฟม.ยอมรับว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นเกือบ 1,000 ล้านบาท ทางผู้รับจ้างได้เสนอขอเคลมค่างานที่เพิ่มขึ้น แต่หลักการพิจารณาของ รฟม.คาดว่าจะไม่สามารถให้ตามที่ผู้รับจ้างร้องขอได้ เนื่องจากเมื่อทำสัญญาก่อสร้างดังกล่าวซึ่งงานใต้ดินนี้ใช้การออกแบบ Design&Build ทาง ITD ผู้รับจ้างระบุว่าสามารถก่อสร้างได้ตามที่ออกแบบไว้ซึ่งแตกต่างจากสัญญาที่ 2 อุโมงค์ใต้ดิน ช่วงสนามไชย-ท่าพระ ซึ่งบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เป็นผู้รับจ้าง ช่วงสถานีสนามไชย ที่มีปัญหาสภาพน้ำใจ้ดินเหมือนกัน แต่ทาง CK ได้แจ้งว่าไม่สามารถทำได้ตามแบบเดิมและขอปรับวิธีก่อสร้าง ขณะที่ ITD บอกว่าทำตามแบบได้ แต่เมื่อขุดลงไปที่ระดับ 30 เมตรแล้วพบปัญหาน้ำใต้ดินมีปริมาณมาก เทพื้นไม่ได้ จึงขอปรับมาใช้ Grout ภายหลัง

“สภาพดินและน้ำใต้ดินมีมาก ทาง ITD บอกว่าทำตามแบบได้ คือขุดดินลงไปและดูดน้ำออก พอแห้งจะเทพื้นแต่ปรากฏว่าการดูดน้ำออกสู้กับน้ำที่ไหลเข้ามาเติมไม่ได้ทำให้เทพื้นไม่ได้ เกิดน้ำผุดไปทั่ว เมื่อเป็นแบบนี้จึงมาขอปรับใช้การฉีดวัสดุช่วย หรือ Grout แก้ไขระหว่างก่อสร้าง แต่สภาพดินที่อยู่ข้างล่างนั้นถูกรบกวนไปแล้ว น้ำใต้ดินมีระดับต่างกัน ทำให้ต้องฉีด Grout เข้าไปค่อนข้างมาก ทำให้ค่าก่อสร้างบานปลาย”

อย่างไรก็ตาม สัญญาก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนั้น ได้รับสิทธิ์ในการขยายเวลาก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาตรการช่วยเหลือกรณีขึ้นค่าแรง 300 บาท จำนวน 150 วัน รวม 2 ครั้ง และค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอีก 180 วัน เท่ากับจะมีการขยายสัญญาให้รวม 16 เดือน สัญญาจะไปสิ้นสุดที่เดือน ต.ค. 2560

อนึ่ง สำหรับสัญญาที่ 1 ช่วงหัวลำโพง-สนามไชย ระยะทาง 2.85 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง วันที่ 4 เม.ย. 2554 ถึงวันที่ 5 มิ.ย. 2559 (1,890 วัน) มูลค่าสัญญา 10,884,675,580.00 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ประกอบด้วย งานอุโมงค์คู่ใต้ดิน ความยาว 2.8 กิโลเมตร สถานีใต้ดิน 2 สถานี คือ สถานีวัดมังกร และสถานีวังบูรพา, งานปล่องระบายอากาศ 2 แห่ง, งานก่อสร้างต่อเชื่อมกับอาคารสถานีใต้ดิน (เดิม) ที่หัวลำโพง
กำลังโหลดความคิดเห็น