กรมการค้าภายในจ่อเปิดตัว “ร้านหนูณิชย์” ในปั๊ม ปตท. 7 เม.ย.นี้ นำร่อง 158 แห่ง ก่อนผลักดันให้ครบ 661 แห่งภายในปีนี้ เล็งคัดร้านหนูณิชย์ที่มีมาตรฐานเป็นร้านหนูณิชย์ติดดาว เผยในกรุงเทพฯ เลือกได้แล้ว 13 แห่ง ส่วนในต่างจังหวัดอยู่ระหว่างดำเนินการ เตรียมนำสินค้าธงฟ้าประชารัฐวางจำหน่ายให้ประชาชนที่เดินทางกลับบ้านสงกรานต์ 9-11 เม.ย.นี้ ที่หัวลำโพง หมอชิต สายใต้ใหม่ ราคาถูกกว่าปกติ 15-20%
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 เม.ย.นี้กรมฯ ได้ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำร่องเปิดตัวร้านหนูณิชย์ในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. โดยเบื้องต้นจะเปิดก่อนใน 158 ปั๊ม จากนั้นจะเปิดให้ครบตามเป้า 661 ปั๊มในระยะต่อไป ซึ่งร้านหนูณิชย์จะจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จในราคาไม่เกินจาน/ชามละ 35 บาท ซึ่งจะเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพและเพิ่มทางเลือกในการบริโภคอาหารปรุงสำเร็จในราคาประหยัดให้แก่ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงปั๊มน้ำมัน และประชาชนที่เดินทางผ่านไปผ่านมา
ส่วนแผนการพัฒนาร้านหนูณิชย์ กรมฯ จะคัดเลือกร้านหนูณิชย์ที่มีอยู่แล้วให้เป็นร้านหนูณิชย์ติดดาว โดยต้องเข้าตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น มีคุณภาพอาหารได้มาตรฐาน ถูกสุขอนามัย รสชาติอร่อย โดยขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย ตัวแทนจากภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น กรมอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) หอการค้าไทย สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอยแห่งประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาหาร ดำเนินการคัดเลือกแล้ว และในต่างจังหวัด ได้ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดให้ช่วยตั้งคณะทำงานขึ้นมาคัดเลือก ซึ่งในส่วนของกรุงเทพฯ ได้มีการคัดเลือกแล้ว 13 แห่ง จะเปิดตัวในเดือน เม.ย.นี้ และจากนั้นจะเปิดตัวในส่วนของต่างจังหวัดต่อไป
ปัจจุบันร้านหนูณิชย์มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 12,000 ร้าน ซึ่งกรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายร้านหนูณิชย์ให้เพิ่มเป็น 15,000 ร้านภายในปีนี้ และในจำนวนร้านหนูณิชย์ที่มีอยู่ กรมฯ จะดำเนินการแบ่งเกรดออกเป็น 3 ระดับ คือ เกรด A คือ ร้านที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะความสะอาด ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข, เกรด B คือ ร้านทั่วไปในตลาดและชุมชน และเกรด C เป็นร้านค้าแผงลอยหรือรถเข็น ซึ่งทุกร้านสามารถยกระดับมาสู่เกรด A ได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ร้านอาหารใส่ใจกับการรักษามาตรฐานความสะอาด อร่อย และราคาถูก ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชน
นางนันทวัลย์กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 9-11 เม.ย.นี้กรมฯ จะเปิดตัวโครงการธงฟ้าประชารัฐ ในสถานีขนส่งหลัก 3 แห่ง ได้แก่ สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีขนส่งหมอชิต และสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ โดยผู้ผลิตจะนำสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน จำนวน 48 รายการจาก 10 กลุ่มสินค้า เช่น สบู่ ยาสีฟัน แชมพูสระผม แปรงสีฟัน เป็นต้น มาจำหน่ายราคาถูกกว่าท้องตลาด 15-20% เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบและรู้จัก ก่อนจะเปิดตัวโครงการจริงในเดือน เม.ย.นี้
โดยในระยะแรกผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่เข้าร่วมโครงการ เช่น บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิลีเวอร์ไทย เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) จะผลิตสินค้าและจัดส่งให้ร้านโชวห่วย ร้านค้าปลีก ร้านค้าชุมชน ร้านค้าภายใต้การส่งเสริมของกองทุนหมูบ้าน ศูนย์สาธิตการตลาด ภายใต้การส่งเสริมของกรมพัฒนาชุมชน รวมแล้วกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ