xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะเป็นพลังงานลม (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กลายเป็นจุดขายใหม่เรื่องการท่องเที่ยวของเขาค้อ
ขณะที่โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมหลายโครงการมีปัญหาเรื่องที่ดิน ที่ตั้งของโครงการ ทำให้กังหันลมไม่ได้หมุนตามที่ตั้งเป้าหมาย

ห่างจากกรุงเทพฯ ไปประมาณ 400 กม. ที่ตำบลทุ่งสมอ และตำบลเขาค้อ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานลมเขาค้อ กลับเดินหน้าผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาต่อเนื่องนับจากเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว

โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเขาค้อ มีกำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ จัดส่งไฟฟ้าด้วยสายส่ง 115 KV ยาว 45 กม.จากโครงการถึงสถานีไฟฟ้าหล่มสักของ กฟผ. โดยโครงการได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้พื้นที่ป่ามาตรา 4(1) และเขตป่าถาวรรวม 250 ไร่ และได้รับอนุมัติ EIA เพื่อพาดสายส่งไฟฟ้าผ่านลุ่มน้ำ 1B เมื่อเดือน มิ.ย. 2556

“ผู้จัดการ 360” ได้เข้าเยี่ยมชม และพูดคุยกับ ดร.สุรเชษฐ ธำรงลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เขาค้อ วินด์ พาวเวอร์ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการ

ดร.สุรเชษฐ เล่าว่า โครงการนี้ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้ กฟผ.25 ปี ตามระเบียบของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) แบบ Non-firm เริ่มเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ หากย้อนกลับไปนับตั้งแต่วันที่เริ่มต้นจะพัฒนาโครงการ การศึกษาความเป็นไปได้ รวมถึงขั้นตอนต่างๆ ใช้เวลาอยู่หลายปี นับเฉพาะการศึกษากระแสลมเรื่องเดียวก็ใช้เวลากว่า 4 ปี

ขณะเดียวกัน การเคลียร์พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของโครงการ บริษัทฯ ได้ขอให้กำลังทหารเข้ามาเคลียร์ และเก็บกู้ระเบิด เพราะในอดีตบริเวณเขาค้อเป็นสมรภูมิสู้รบระหว่างรัฐบาลกับคอมมิวนิสต์ ขั้นตอนนี้ก็ใช้เวลาไม่น้อย

ในขั้นตอนการขออนุญาตเพื่อดำเนินการเนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมยังใช้เวลาเช่นกัน เพราะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายหน่วยงานด้วยกัน นอกจากได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ยังมีกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น (ดูภาพกราฟิกประกอบ)

พร้อมๆ กับแผนงานต่างๆ เดินหน้าไป ขั้นตอนของการนำเข้ากังหันลมและส่วนประกอบก็สำคัญ เพราะช่วงระหว่างการดำเนินการเป็นช่วงที่พลังงานทางเลือกทั่วโลกกำลังตื่นตัว อุปกรณ์ต่างๆ ของโรงไฟฟ้าพลังงานลมมีความต้องการสูง บริษัทผู้ผลิตเสนอต่อผู้ซื้อหรือผู้พัฒนาโครงการต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 2 ปี

เมื่อได้อุปกรณ์มา มาถึงขั้นตอนการขนส่ง นับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง

กรรมการผู้จัดการ บริษัทเขาค้อ วินด์ พาวเวอร์ เล่าว่า การขนส่งกังหันลมและอุปกรณ์ต่างๆ จากท่าเรือแหลมฉบังมาเขาค้อใช้เวลา 300 กว่าเที่ยวรถบรรทุกโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เฉพาะจากประเทศอังกฤษมาทำหน้าที่นี้ เริ่มขนช่วงเดือนมกราคม ปี2559 ซึ่งถือเป็นงานที่ยาก เพราะการขนส่งสิ่งของที่มีความยาวกว่า 60 เมตร หนักกว่า 13.5 ตันของใบพัดไปตามถนนต้องใช้ช่วงเวลากลางคืน เดินทางกว่า 3 วัน ซึ่งระหว่างทางต้องลัดเลาะขึ้นเขาไปตามถนนโค้งและแคบ ทำให้บางช่วงต้องตัดทำทางให้เปิดกว้างเพื่อให้เพียงพอต่อวงเลี้ยวของรถบรรทุก (ดูคลิปประกอบ)



“ฝรั่งยังบอกว่า งานนี้ยากที่สุดเท่าที่เคยทำมา”

ดร.สุรเชษฐยังกล่าวว่า ความยากของการขนส่ง ติด ตั้ง ก่อนจะเริ่มเดินเครื่องกังหันลมส่วนนี้ต้องใช้งบลงทุนของโครงการทั้งสิ้นกว่า 3,200 ล้านบาท จากยอดรวมการลงทุนของทั้งโครงการอยู่ที่ 5,200 ล้านบาท

ปัจจุบันโครงการพลังงานลมเขาค้อมีกังหันลมทั้งสิ้น 24 ต้น กำลังการผลิต 2.5 เมกะวัตต์ต่อต้น ความสูงของกังหันลมวัดจากพื้นจนถึงจุดศูนย์กลางใบพัด 110 เมตร ขณะที่ใบพัดยาว 60 เมตร ความเร็วลมเฉลี่ย 5.6 เมตรต่อวินาที ผลิตได้ทั้งหมดต่อปี 140 ล้านหน่วย แต่หักการสูญเสียของลม เช่น กังหันลมบางต้นบังลมกันเองทำให้ผลิตได้เฉลี่ย 110 ล้านหน่วยต่อปี

“ในทางเทคนิค เมื่อลมพัด กังหันลมแต่ละต้นจะเริ่มหมุนทำงานผลิตไฟฟ้าที่ความเร็วลม 3 เมตรต่อวินาที หากความเร็วลมเพิ่มขึ้นการผลิตไฟฟ้าก็จะเพิ่มขึ้นตาม จนกระทั่งที่ความเร็วลมประมาณ 11 เมตรต่อวินาทีการผลิตไฟฟ้าจะได้เต็มพิกัดที่ 2.5 เมกะวัตต์ หลังจากนั้นหากความเร็วลมยังเพิ่มขึ้นอีกใบพัดจะถูกปรับมุมอัตโนมัติเพื่อให้รับลมพอเหมาะที่จะผลิตไฟฟ้าที่ 2.5 เมกะวัตต์ แต่เมื่อความเร็วลมถึง 20 เมตรต่อวินาที หรือ 72 กม.ต่อ ชม.ซึ่งเร็วมาก ใบพัดก็จะถูกปรับไม่ให้รับลมและถูกล็อกเพื่อหยุดการหมุนและการผลิตไฟฟ้า ดังนั้น ระบบจะควบคุมใบพัดให้หมุนอยู่ระหว่าง 3-13 รอบต่อนาที ก็จะทำให้ได้ไฟประมาณ 50 กิโลวัตต์ ถึง 2.5 เมกะวัตต์” ดร.สุรเชษฐอธิบาย

ลมแม้เป็นของฟรี แต่ละขั้นตอนก่อนจะนำมาผลิตเป็นไฟฟ้านับว่าไม่ง่ายเลย



ดร.สุรเชษฐ์ ธำรงลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ เขาค้อวินด์พาวเวอร์


การก่อสร้างฐานรากรองรับเสากังหันลม




กำลังโหลดความคิดเห็น