xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.-BEM เซ็นสัมปทานเดินรถสีน้ำเงินมูลค่ากว่า 2 แสนล้าน “สมคิด” สั่งเร่งเปิด “ชมพู-เหลือง” เข้า ครม. เม.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รฟม.-BEM ลงนามสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย สัญญา 33 ปี มูลค่ากว่า 2 แสนล้าน “สมคิด” สั่งเร่งเปิดเดินรถเร็วกว่าแผน พร้อมเตรียมชง ครม.ทำคลอดสีชมพู-เหลืองใน เม.ย.นี้ ด้าน “ปลิว” เผยเตรียมซื้อรถ 35 ขบวน ยอมเสี่ยงเพื่อให้ประชาชนเดินทางสะดวก “สมบัติ” คาดปี 60 ผู้โดยสารโต 5% ดันรายได้พุ่ง 10% เปิด 1 สถานีเชื่อมฟันหลอเพิ่มยอดผู้โดยสารสายสีม่วงเป็น 4 หมื่นคน/วัน เดินทางเชื่อมเข้าสายเฉลิมรัชมงคล 50%



นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM วันที่ 31 มี.ค.ว่า สัญญาสัมปทานนี้จะทำให้โครงข่ายรถไฟฟ้าเกิดการเชื่อมโยง และประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด เกิดการพัฒนาเมือง ระบบเศรษฐกิจ ประชาชนอยู่ดีกินดี ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลับให้ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ทำให้สามารถได้ข้อสรุปได้

ทั้งนี้ ได้สอบถาม นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานบริษัท BEM ระบุว่า จะมีการลงทุนในปี 2560 ประมาณ 10,000 ล้านบาท และจะมีการจัดหารถไฟฟ้า 35 ขบวน ซึ่งได้เร่งรัดการเปิดเดินรถให้เร็วที่สุด ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. มีมูลค่าลงทุนรวม 53,490 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. มูลค่าลงทุนรวม 51,810 ล้านบาท จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน เม.ย.นี้ และจะทยอยเข้า ครม.อีก 3-4 สาย ส่วนรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง รองรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) จะมีการลงทุนภายในปี 2560 เช่นกัน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบัน รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล จำนวน 18 สถานี มีผู้โดยสารประมาณ 3 แสนคน/วัน เมื่อเปิดสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ อีก 19 สถานีเต็มระบบจะเกิดการส่งต่อผู้โดยสาร ทำให้โครงข่ายสีน้ำเงินมีผู้โดยสารเพิ่มเป็น 8 แสนคน/วันได้ ซึ่งประชาชนจะได้รับความสะดวก เนื่องจากเป็นการเดินทางต่อเนื่อง ไม่มีค่าแรกเข้า ค่าโดยสารคงเดิม เริ่มต้น 16 บาทสูงสุดไม่เกิน 42 บาท

“ได้ขอให้บริษัทฯ เร่งรัดเปิดเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยายให้เร็วกว่าแผนปี 2562 ซึ่งเชื่อว่าหากคัดเลือกผู้ผลิตรถและเจรจาเร่งรัดการส่งมอบจะสามารถเปิดเดินรถได้ก่อนกำหนด นอกจากนี้ ในเดือน มิ.ย.นี้จะเริ่มใช้ระบบตั๋วร่วม (บัตรแมงมุม) กับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล สายสีม่วง รวมถึงส่วนต่อขยายเมื่อเปิดให้บริการ” นายอาคมกล่าว

*** รฟม.ชงรถไฟฟ้าอีก 5 สายจ่อคิวเข้า ครม.ในปีนี้

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า ขณะนี้ รฟม.ได้ทยอยนำเสนอโครงการรถไฟฟ้าอีก 5 สายเพื่อขออนุมัติจาก ครม.ในปีนี้ โดยสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 131,004.30 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 8 กม. วงเงิน 21,120 ล้านบาทรอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) เดือน เม.ย.นี้

ส่วนสายสีเขียวใต้ ช่วงสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 9.2 กม. วงเงิน 9,529.54 ล้านบาท, สายสีเขียวเหนือ ช่วงคูคต-ลำลูกกา ระยะทาง  6.5 กม. วงเงิน 9,236.07 ล้านบาท, สายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 16.4 กม. วงเงิน 85,288 .54 ล้านบาท ได้เสนอเรื่องไปกระทรวงคมนาคมแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณาค่าก่อสร้าง

ด้านนายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธาน บริษัท BEM กล่าวว่า ในฐานะเอกชนผู้ลงทุนจะมีความเสี่ยงมากเพราะมีการเจรจาต่อรองจนผลตอบแทนที่ถือว่าโดยทั่วไปคงไม่กล้ารับ แต่บริษัทฯ อยากเห็นประชาชนได้รับประโยชน์ ซึ่งการเปิดเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย โครงข่ายจะเป็นวงกลมที่สมบูรณ์ เชื่อมการเดินทางฝั่งกรุงเทพฯ และธนบุรีด้วยการเดินรถแบบต่อเนื่อง รวดเร็วและปลอดภัย ภายใต้อัตราค่าโดยสารที่ถูกมาก ประชาชนจะได้รับประโยชน์มาก โดยยืนยันที่จะบริการด้วยคุณภาพ และแล้วเสร็จตามกำหนด

***BEM เร่งเจรจาซื้อรถ 35 ขบวน ทยอยเปิด 3 ช่วง คาดผู้โดยสาร-รายได้ปี 60 โต 5-10%

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท BEM กล่าวว่า ตามแผนจะทยอยเปิดเดินรถเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงบางซื่อ-เตาปูน หรือ 1 สถานี จะเปิดในเดือน ส.ค. 2560, ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสอง จำนวน 11 สถานี จะเปิดในเดือน ก.ย. 2562 และช่วงเตาปูน -ท่าพระ จำนวน 7 สถานี จะเปิดในเดือน มี.ค. 2563 โดยจะพยายามเร่งรัดเปิดเดินรถให้เร็วกว่าแผนดังกล่าว เนื่องจากเมื่อเปิดเดินรถเต็มโครงข่ายจะทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และยังจะมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตลอดแนวสายทางที่จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารอีกด้วย

สำหรับรถไฟฟ้า 35 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้นั้น ขณะนี้ได้คัดเลือกผู้ผลิตรถไฟฟ้าได้แล้วอยู่ระหว่างเจรจา จะสรุปในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ ใช้เวลาผลิต 2 ปี โดยตามแผนจะลงทุนประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท สำหรับการติดตั้งระบบและจัดหารถไฟฟ้า

นายสมบัติกล่าวว่า ในปี 2560 รายได้ของบริษัทในส่วนของรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 10% หรือมีรายได้ประมาณกว่า 4,300 ล้านบาท จากปี 2559 ที่มีรายได้ส่วนรถไฟฟ้า ประมาณ 3,200 ล้านบาท (สัมปทานสายเฉลิมรัชมงคล 2,500 ล้านบาท ค่าจ้างเดินรถสีม่วง 700 ล้านบาท) เนื่องจากจะได้รับค่าจ้างเดินรถสีม่วงทั้งปีที่ 1,800 ล้านบาท และการเติบโตของผู้โดยสาร

จากที่คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 5% โดยมาจากการเปิดเดินรถ ช่วง 1 สถานี ในเดือน ส.ค. 2560 ทำให้ผู้โดยสารสายสีม่วงจากปัจจุบันประมาณ 3 หมื่นคน/วัน เพิ่มเป็น 4 หมื่นคน/วัน และส่งต่อผู้โดยสารเข้าสายเฉลิมรัชมงคลประมาณ 50%ทำให้ผู้โดยสารใช้บริการจำนวนสถานีเพิ่มขึ้นหรือนั่งยาวขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 25 บาทเศษแน่นอน นอกจากนี้ ในปี 2560 จะครบ 2 ปีที่ต้องมีการปรับค่าโดยสารตามสัญญา ซึ่งจะพิจารณาตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) โดยจะทราบผลในเดือน ม.ค. 61 ว่าจะมีการปรับเพิ่มหรือไม่ และจะประกาศค่าโดยสารใหม่ในเดือน ก.ค. 2561

“ที่มาของรายได้รถไฟฟ้าจะมาจาก 3 ส่วน คือ จำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น, การเดินทางระยะทางไกลขึ้น, อัตราค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้น” นายสมบัติกล่าว

สำหรับการลงนามสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในครั้งนี้เป็นการดำเนินงานตามคำสั่ง หน.คสช.ที่ 42/2559 เพื่อให้การเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเป็นการเดินรถแบบต่อเนื่อง เป็นโครงข่ายเดียวกัน และสามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้โดยเร็ว โดยคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ตามมาตรา 35 และคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ได้ร่วมกันดำเนินการเจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มาเป็นลำดับ จนได้ข้อยุติเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559

และต่อมาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ได้มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนสัญญาสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยให้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงทุนงานระบบรถไฟฟ้า บริหารจัดการการเดินรถและซ่อมบำรุง รูปแบบ PPP-Net Cost อายุสัญญาสัมปทาน 33 ปี (2560-2592) มูลค่าสัมปทาน 207,062 ล้านบาท

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มีระยะทางรวม 27 กิโลเมตร มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการเดินรถต่อเนื่องทั้งระบบแล้วจะมีระยะทางรวม 47 กิโลเมตร จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีได้อย่างสมบูรณ์

นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรมที่สถานีเตาปูน ซึ่งจะทำให้เกิดโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครกับปริมณฑลอีกด้วย

ปัจจุบัน (ณ วันที่ 25 มีนาคม 2560) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ การก่อสร้างงานโยธามีความก้าวหน้าร้อยละ 91.13 จะเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าเป็น 3 ช่วง ดังนี้ ช่วงบางซื่อ-เตาปูน จะเปิดให้บริการภายในเดือนสิงหาคม 2560 ช่วงหัวลำโพง-บางแค จะเปิดให้บริการภายในเดือนกันยายน 2562 และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ จะเปิดให้บริการภายในเดือนมีนาคม 2563 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทางอย่างปลอดภัย สะดวก สบาย และมั่นใจด้วยระบบการเดินรถที่ทันสมัยจากต้นสายสู่ปลายทาง ติดตามข้อมูลข่าวสาร รฟม. เพิ่มเติมที่เว็บไซต์ รฟม. (www.mrta.co.th) และเฟซบุ๊กการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ โทร. 0-2716-4000










กำลังโหลดความคิดเห็น