ไทย-จีนนัดประชุมร่วมครั้งที่ 17 ถกไฮสปีด “กรุงเทพฯ-โคราช” วันที่ 9-10 เม.ย.นี้ ที่คุนหมิง “อาคม” เร่งคณะทำงานสรุปแบบก่อสร้าง 3.5 กม. ถอดรหัสวัสดุเป็นของไทยและสัญญาจ้างที่ปรึกษา ขณะที่จีนยอมส่งวิศวกรสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรของไทยแล้ว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จะมีการประชุมในโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ในการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (ไฮสปีดเทรน) ระยะทาง 252.5 กม. มูลค่า 179,412.21 ล้านบาทของคณะกรรมการร่วม ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 9-10 เม.ย. 2560 ที่คุนหมิง ประเทศจีน เพื่อเจรจาหาข้อสรุปในเรื่องการออกแบบก่อสร้างเส้นทางตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. (สถานีกลางดง-ปางอโศก), ร่างสัญญาการเจรจา ร่างสัญญา Engineering Procurement and Construction (EPC-2) สัญญางานออกแบบ, สัญญาควบคุมงาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และกฎหมายไทย รวมถึงการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรของไทยให้วิศวกรจีนออกแบบโครงการ
ทั้งนี้ เบื้องต้นได้สั่งการให้คณะทำงานสองฝ่ายประชุมร่วมกันให้ได้ข้อสรุปในเดือน มี.ค.นี้ ก่อนที่คณะกรรมการร่วมชุดใหญ่จะประชุมครั้งที่ 17 เช่น การถอดแบบก่อสร้าง ระยะทาง 3.5 กม. โดยปรับรหัสมาตรฐานวัสดุก่อสร้างของจีนมาเป็นรหัสมาตรฐานของไทยซึ่งมีความก้าวหน้าไปมากแล้ว และตัวรายละเอียด ร่างสัญญาจ้างออกแบบ รวมถึงประเด็นวิศวกรจีนที่ออกแบบต้องสอบผ่านใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรของไทย ซี่งทางจีนตกลงที่จะดำเนินการตามกฎหมายไทย โดยสภาวิศวกรไทยพร้อมอำนวยความสะดวก หลักการคือจะสอบระดับหัวหน้าวิศวกรของจีนเพื่อออกใบรับรองเท่านั้น ไม่ได้ให้วิศวกรจีนที่ออกแบบทุกคนต้องมาสอบ
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวยอมรับว่า การถอดแบบรหัสวัสดุก่อสร้างต้องใช้เวลามาก เนื่องจากมีรายละเอียดของงานค่อนข้างมากและต้องเป็นการออกแบบรายละเอียด (Detail & Design) เพื่อใช้ในการกำหนดราคากลางใน TOR ประมูล นอกจากนี้ มาตรฐานวัสดุของจีนต้องแปลงมาเป็นมาตรฐานวัสดุไทยนั้นต้องตรวจด้วยว่าวัสดุนั้นมีในประเทศไทยหรือไม่ เพราะบางตัวอาจจะเป็นวัสดุที่มีในจีน แบบนี้คงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายจะต้องเปิดประมูลเริ่มการก่อสร้างช่วง 3.5 กม.ให้ได้ก่อน จากนั้นการออกแบบและถอดรหัสในตอนที่ 2 (ปากช่อง-คลองขนานจิตร) ระยะทาง 11 กม. ตอนที่ 3 (แก่งคอย-โคราช) ระยะทาง 119 กม. ตอนที่ 4 (กรุงเทพฯ-แก่งคอย) ระยะทาง 119 กม. จะทำได้เร็วและทยอยประมูลได้