xs
xsm
sm
md
lg

25 เม.ย.เบี่ยงจราจร แยกไฟฉาย-บางพลัด วางโครงสร้างเหล็กทางวิ่งรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รฟม.-ตำรวจ เผยแผนจัดจราจรการก่อสร้างโครงสร้างเหล็กทางวิ่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงข้ามช่วงคร่อมแยกบางพลัดและแยกไฟฉาย เริ่มเบี่ยงจราจรตั้งแต่คืนวันที่ 25 เม.ย.นี้เป็นต้นไป โดยแยกไฟฉายใช้เวลาก่อสร้างรวม 4.5 เดือน แยกบางพลัดใช้เวลารวม 5 เดือน

วันนี้ (27 มี.ค. ) พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พร้อมด้วยนายวิทยา พันธุ์มงคล ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้แทนจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้แทนจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการ และผู้แทนจากกิจการร่วมค้าเอสเอช-ยูเอ็น ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา (สัญญาที่ 3) ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ได้ลงพื้นที่สำรวจจุดก่อสร้างโครงสร้างเหล็กทางวิ่งรถไฟฟ้าช่วงข้ามทางแยก (BOWSTRING) และร่วมตรวจติดตามการเพิ่มพื้นที่ช่องจราจรบริเวณแยกบางพลัด โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้หน่วยงานหลักอย่าง บช.น. (ด้านการจัดการจราจร) รฟม. (หน่วยงานรับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินฯ) กทม. (หน่วยงานเจ้าของพื้นที่งานก่อสร้างสะพานข้ามแยกบางพลัดและอุโมงค์ลอดทางแยกไฟฉาย) ได้ร่วมกันบูรณาการงานด้านการวางแผนการจัดการจราจรในช่วงที่จำเป็นต้องก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าข้ามแยก (BOWSTRING) ระยะเวลาประมาณ 5 เดือน

นายวิทยา พันธุ์มงคล ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า งานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าช่วงบางซื่อ-ท่าพระ จะตั้งอยู่เกาะกลางตามแนวถนนจรัญสนิทวงศ์ และผ่านจุดตัดอุโมงค์ทางลอด และสะพานข้ามแยกที่สำคัญ ได้แก่ อุโมงค์ลอดทางแยกบางพลัด อุโมงค์ลอดทางแยกบรมราชชนนี สะพานข้ามแยกบรมราชชนนี สะพานข้ามแยกบางพลัด และอุโมงค์ลอดทางแยกไฟฉาย ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างร่วมกับกรุงเทพมหานคร

สำหรับการก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าช่วงคร่อมแยกบางพลัด และแยกไฟฉาย จะเริ่มตั้งแต่คืนวันที่ 25 เม.ย. เวลา 24.00 น.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 26 เม.ย. โดยมีรูปแบบแตกต่างจากจุดอื่นๆ ของโครงการ เนื่องจากบริเวณแยกบางพลัดที่ปัจจุบันมีสะพานข้ามแยกบางพลัดทิศทางจากถนนราชวิถี มุ่งหน้าถนนสิรินธร และในอนาคตบริเวณแยกไฟฉายจะมีการก่อสร้างสะพานข้ามแยกทิศทางจากพรานนกมุ่งหน้าถนนกาญจนาภิเษกเช่นเดียวกับบริเวณแยกบางพลัด จึงทำให้ต้องปรับลดความหนาของโครงสร้างลงเพื่อให้มีความสูงของช่องลอดเพียงพอจากระดับพื้นสะพานข้ามแยกถึงระดับใต้ท้องโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าตามมาตรฐาน จึงมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากคอนกรีตเป็นโครงสร้างเหล็ก (Bowstring)

ดังนั้น ในระหว่างการก่อสร้างโครงสร้างเหล็กทางวิ่งรถไฟฟ้าช่วงข้ามทางแยก (Bowstring) จำเป็นต้องเบี่ยงจราจรเพื่อติดตั้งเสาเหล็กชั่วคราวกลางแยก โดยจะตั้งขนาบข้างสะพานข้ามแยกบางพลัดจำนวน 4 ต้น และแยกไฟฉาย จำนวน 2 ต้นเพื่อค้ำยันโครงสะพานเหล็กรองรับทางวิ่งรถไฟฟ้า ทำให้เสียผิวจราจรในบางช่วง และได้ดำเนินการปาดเกาะเพื่อให้ช่องจราจรกว้างขึ้น

รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กล่าวว่า จะมีการจัดการจราจรบริเวณพื้นที่ดังกล่าวในระหว่างที่มีการก่อสร้าง ทั้ง 2 จุด ดังนี้

แยกบางพลัด ใช้ระยะเวลาก่อสร้างรวม 5 เดือน โดยเบี่ยงช่องจราจรบริเวณแยกบางพลัดใน 2 กรณี คือ 1) กรณีรถที่มาจากถนนจรัญสนิทวงศ์ขาเข้าเลี้ยวขวาเข้าถนนสิรินธร 1 ช่องทาง 2) กรณีรถที่มาจากถนนสิรินธรเลี้ยวขวาเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์ มุ่งหน้าแยกท่าพระ 1 ช่องทาง และสำหรับการจราจรในช่องทางอื่นๆ สามารถเดินรถได้ตามปกติ

แยกไฟฉาย ใช้ระยะเวลาก่อสร้างรวม 4.5 เดือน โดยห้ามเลี้ยวขวาแยกไฟฉายทุกช่องทาง ยกเว้นช่วงเวลาเร่งด่วน โดยมีจัดจราจรตามช่วงเวลา ดังนี้

ช่วงจราจรเร่งด่วนเวลา 05.00-10.00 น. และ 15.00-21.00 น. เบี่ยงช่องจราจรบริเวณแยกไฟฉาย 1) กรณีรถที่มาจากถนนกาญจนาภิเษกมุ่งหน้าเข้าถนนพรานนก 2) กรณีรถที่มาจากถนนกาญจนาภิเษกเลี้ยวขวาเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์มุ่งหน้าท่าพระ 3) กรณีรถที่มาจากถนนพรานนกห้ามเลี้ยวขวาเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์ ให้กลับรถบริเวณสะพานบางขุนศรี

ช่วงจราจรปกติเวลา 10.00-15.00 น. และ 21.00-05.00 น. ห้ามเลี้ยวขวาทุกช่องทางเพื่อปิดพื้นที่ดำเนินงานก่อสร้าง 1) กรณีรถที่มาจากถนนจรัญสนิทวงศ์ขาเข้า ต้องการเข้าสู่ถนนกาญจนาภิเษก ให้ไปกลับรถบริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ 20

2) กรณีรถที่มาจากถนนจรัญสนิทวงศ์ขาออก ต้องการเข้าสู่ถนนพรานนก ให้กลับรถบริเวณหน้าฟู้ดแลนด์




กำลังโหลดความคิดเห็น