รถเมล์ NGV จำนวน 489 คันจอดแช่ไร้ทางออก หลัง ผอ.ขสมก.ยันไม่เลิกสัญญาจนกว่าจะได้คำตอบจากกรมศุลกากร ส่วนแผนจัดหารถใหม่ ล่าสุดจ้างจุฬาฯ ศึกษาเปรียบเทียบระบบไฮบริด คาดปรับแผนเสร็จไม่เกิน มิ.ย.นี้
นายสุระชัย เอี่ยมวชิระสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ขสมก.ยังไม่สามารถตัดสินใจปัญหาการจัดซื้อรถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) เป็นเชื้อเพลิง จำนวน 489 คันได้ เพราะยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความกระจ่างกับ ขสมก. แม้ ขสมก.จะส่งหนังสือขอรับคำปรึกษาไปหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งเรียก ขสมก.ไปให้ข้อมูล โดย สตง.แนะนำว่า ขสมก.ควรทำหนังสือสอบถามเรื่องนี้ไปยังสถานทูตมาเลเซีย ซึ่ง ขสมก.ได้กระทำตามคำแนะนำแล้ว และสถานทูตมาเลเซียยังไม่ตอบกลับมา
ส่วนกรมศุลกากร ขสมก.ได้ทำหนังสือทวงถามไป 2-3 ฉบับแล้ว เพื่อขอผลสรุปการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ซึ่งก็ยังไม่ได้รับคำตอบเช่นกัน ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้คำแนะนำว่า ขสมก.ควรรอผลสรุปจากกรมศุลกากรก่อน
ทั้งนี้ ขสมก.ได้หารือเรื่องดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก.ทุกครั้ง ซึ่งบอร์ดก็ให้นโยบายว่า ขสมก.ต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามสัญญา กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ส่วนกระทรวงคมนาคมนั้น ก่อนหน้านี้เคยเร่งรัด แต่ปัจจุบันก็ให้ ขสมก.รอคำตอบจากกรมศุลกากรก่อน
ขณะเดียวกัน ยอมรับว่าหากผู้รับงาน คือ บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญากับ ขสมก.ยื่นฟ้องร้อง ขสมก. เรื่องนี้ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของศาล จากนั้น ขสมก.จะไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้อีกต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
นายสุระชัยกล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าการปรับปรุงแผนการจัดหารถโดยสารของ ขสมก.ว่า ขณะนี้ได้ว่าจ้างให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการศึกษารถโดยสารระบบไฮบริดจ์เปรียบเทียบกับระบบอื่นๆ ซึ่งจะได้ผลแบบเบื้องต้นปลายเดือนเมษายนนี้ จากนั้น ขสมก.จะนำมาประมวลผลและจัดทำแผนจัดหาใหม่ โดยจะแล้วเสร็จปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ ก่อนนำเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ทั้งนี้ หากยังมีการบรรจุการจัดหารถโดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้าไว้ในแผน และได้รับความเห็นชอบก็คาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาได้ภายในปีนี้ เนื่องจากได้จัดทำเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ไว้พร้อมแล้ว แต่หากไม่มีการบรรจุไว้ในแผนอีก ก็เชื่อว่าการประกวดราคาเพื่อจัดหารถใหม่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ภายในปีนี้
นายสุระชัยกล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าการประกวดราคาโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ e-Ticket พร้อมติดตั้งอุปกรณ์บนรถโดยสารประจำทาง 2,600 คัน วงเงิน 1,786.59 ล้านบาท ซึ่งเป็นระบบที่จะนำมาเชื่อมกับระบบตั๋วร่วมว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างให้ผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติทั่วไปจำนวน 4 ราย ทำการสาธิตระบบ และ ขสมก.จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสาธิตระบบในวันที่ 27 มีนาคมนี้ ซึ่งผู้ที่ผ่านฯ จะเข้าแข่งขันเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ในวันที่ 5 เมษายน 2560
สำหรับผู้ชนะการประกวดราคา ต้องทำการติดตั้งระบบ e-Ticket บนรถโดยสารไม่ต่ำกว่า 100 คันภายในระยะเวลา 120 วันนับถัดจากวันที่ลงนามในสัญญา จากนั้นต้องติดตั้งระบบได้ไม่น้อยกว่า 700 คันภายใน 180 วัน และติดตั้งให้ครบ 2,600 คันภายใน 1 ปี