“พาณิชย์” รุกใช้ “เลยโมเดล” ช่วยผู้ประกอบการจังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ติดชายแดนมีโอกาสค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน เตรียมปูพรมปั้นผู้ประกอบการ โฟกัสจังหวัดที่อยู่ติดกับด่านชายแดนก่อน เหตุเริ่มค้าขายได้ทันที จากนั้นขยายลึกเข้าไปยังจังหวัดที่ห่างด่าน ห่างชายแดนต่อไป มั่นใจช่วยเสริมให้ยอดค้าชายแดนปีนี้เข้าเป้า 1.8 ล้านล้านได้แน่
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนที่จะใช้ยุทธศาสตร์ “เลยโมเดล” ในการพัฒนาผู้ประกอบการไทยในจังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ติดชายแดนให้มีโอกาสในการทำการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะที่ผ่านมาการค้าชายแดนมักจะเป็นการค้าขายระหว่างผู้ประกอบการที่อยู่ในจังหวัดติดชายแดน และจังหวัดที่มีด่านชายแดนเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการที่อยู่ในจังหวัดถัดมาจากจังหวัดที่ติดชายแดนหรือจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของด่านมักจะไม่มีการทำการค้าชายแดน นอกจากการค้าขายภายในจังหวัด ทำให้เสียโอกาสทั้งๆ ที่มีโอกาสในการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ ในปัจจุบันไทยมีจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านทั่วประเทศรวม 31 จังหวัด โดยติดกับกัมพูชา 7 จังหวัด สปป.ลาว 12 จังหวัด พม่า 10 จังหวัด และมาเลเซีย 4 จังหวัด และมีด่านต่างๆ ทั้งจุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนผ่อนปรน จุดผ่านแดนผ่อนปรนพิเศษ และจุดผ่านแดนชั่วคราว รวม 94 แห่ง แยกเป็น ไทย-กัมพูชา 17 แห่ง เป็นจุดผ่านแดนถาวร 6 แห่ง จุดผ่อนปรน 10 แห่ง และจุดผ่อนปรนชั่วคราว 1 แห่ง ไทย-สปป.ลาว 48 แห่ง เป็นจุดผ่านแดนถาวร 19 แห่ง จุดผ่อนปรน 29 แห่ง ไทย-พม่า 20 แห่ง เป็นจุดผ่านแดนถาวร 5 แห่ง จุดผ่อนปรน 13 แห่ง จุดผ่อนปรนพิเศษ 1 แห่ง และจุดผ่อนปรนชั่วคราว 1 แห่ง และไทย-มาเลเซีย มีจุดผ่านแดนถาวร 9 แห่ง
“ปกติการทำการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านมักจะทำกันในจังหวัดที่ติดกับด่าน แต่กรมฯ มองว่าผู้ประกอบการในจังหวัดที่ไม่ติดกับด่านชายแดนก็มีศักยภาพไม่แพ้กัน มีสินค้าและบริการที่หลากหลาย สามารถผลักดันให้ทำการค้ากับเพื่อนบ้านได้ จึงได้ใช้เลยโมเดลเข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยจะส่งทีมลงพื้นที่ไปช่วยเหลือและผลักดันให้ผู้ประกอบการในจังหวัดที่ถัดจากด่านชายแดนเข้ามาให้มีความรู้ ความเข้าใจในการทำการค้ากับเพื่อนบ้านต่อไป” นายอดุลย์กล่าว
นายอดุลย์กล่าวว่า แนวทางการผลักดัน กรมฯ จะเน้นการผลักดันผู้ประกอบการในจังหวัดที่ถัดจากจังหวัดที่มีด่านติดชายแดนก่อน เพราะง่ายต่อการส่งเสริมให้ทำการค้าเพราะอยู่ใกล้กับด่าน จากนั้นจะค่อยขยับลึกเข้ามาในจังหวัดที่ห่างไกลด่านชายแดนมากขึ้น โดยจะใช้วิธีการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการเพื่อให้ช่วยกันทำการค้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีการทำการค้าอยู่แล้วให้ช่วยผลักดันผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งหากมีผู้ประกอบการทำการค้ากับเพื่อนบ้านได้มากขึ้นก็จะช่วยผลักดันให้การค้าชายแดนขยายตัวได้เพิ่มขึ้น
ในปี 2560 นี้กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการค้าชายแดนมูลค่า 1.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีมูลค่า 1.47 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย โดยมียุทธศาสตร์การทำงาน คือ จะผลักดันให้มีการขยายการค้าผ่านด่านชายแดนใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น ด่านบ้านแหลม ด้านบ้านผักกาด จ.จันทบุรี ด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และด่านท่าลี่ จ.เลย ผลักดันการค้าผ่านด่านเดิมที่มีอยู่ให้มากขึ้น เช่น ด่านแม่สอด จ.ตาก ด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก จ.เชียงราย การสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการไทยกับเพื่อนบ้าน เช่น โครงการ YEN-D และการใช้เลยโมเดล ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้