xs
xsm
sm
md
lg

“สนธิรัตน์” ดันตลาดอนุสารเชียงใหม่ ตั้ง “ตลาดทุเรียน” ดึงดูดนักท่องเที่ยว คาดเปิด พ.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สนธิรัตน์” ดันตลาดอนุสารเชียงใหม่ เป็นสถานที่ตั้ง “ตลาดทุเรียน” คาดเปิดได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ พร้อมสั่งประเดิมจัดกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งบุฟเฟต์กินทุเรียน ไอศกรีมทุเรียน และการจำหน่ายทุเรียนแปรรูป สร้างความคึกคักก่อนเปิดจริง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ดูสถานที่การจัดตั้งตลาดดึงดูด (Magnet Market) ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะผลักดันให้เป็นตลาดทุเรียน โดยจะตั้งที่ตลาดอนุสารซึ่งเป็นตลาดที่อยู่บริเวณเดียวกันกับตลาดไนท์บาร์ซา และจะผลักดันให้เปิดตลาดให้ได้ภายในเดือน พ.ค. 2560 นี้ เพื่อให้เป็นแหล่งค้าขายทุเรียนของภาคเหนือ และใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดและรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวจีนที่มีความสนใจบริโภคทุเรียนไทยเป็นอย่างมาก

“ก่อนที่จะมีการเปิดตลาดทุเรียนอย่างเป็นทางการ จะมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายและการบริโภคทุเรียนที่ตลาดอนุสารไปพลางก่อน โดยจะมีกิจกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น บุฟเฟต์ทุเรียน ไอศกรีมทุเรียน และจะมีสินค้าที่แปรรูปจากทุเรียนมาจำหน่ายด้วย” นายสนธิรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ การจัดตั้งตลาดทุเรียนอยู่ในแผนการผลักดันตลาดของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งจะใช้งบประมาณของกระทรวงฯ ที่ได้รับมาประมาณ 3,000 ล้านบาท นำมาขับเคลื่อนการจัดตั้งตลาดในรูปแบบต่างๆ ทั้งตลาดต้องชม ตลาดดึงดูด ตลาดชุมชน และตลาดกลางสินค้าเกษตร

โดยตามเป้าหมายจะมีการผลักดันให้เปิดตลาดต้องชมในปี 2560 เพิ่มอีก 77 แห่ง จากที่ได้มีการผลักดันให้เปิดได้แล้ว 77 แห่งในปี 2559 ที่ผ่านมา ส่วนตลาดดึงดูดตั้งเป้าว่าจะเปิดตลาดทุเรียนที่ จ.เชียงใหม่ และตลาดซีฟูดที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย และนิยมบริโภคอาหารทะเล ขณะที่ตลาดชุมชนจะผลักดันให้แต่ละชุมชนมีตลาด เพื่อให้เป็นแหล่งค้าขายในชุมชน และตลาดกลางสินค้าเกษตร จะผลักดันให้เป็นตลาดที่เป็นจุดศูนย์กลางในการรวบรวมสินค้าเกษตรเข้ามาจำหน่าย เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ขายสินค้า และเป็นการตัดปัญหาเรื่องพ่อค้าคนกลาง ทั้งนี้จะมีการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้พัฒนาและบริหารตลาดกลางด้วย

หากกระทรวงพาณิชย์สามารถผลักดันให้ตลาดทั้งหมดสำเร็จเป็นรูปธรรมได้จะทำให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจฐานรากมากกว่าหลายหมื่นล้านบาทต่อเดือน โดยคำนวณจากหากเปิดตลาดชุมชน 1 ตลาด มีการซื้อขาย 3-5 แสนบาทต่อวัน หากมีตลาดแบบนี้ 100 แห่งก็จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 200 ล้านบาทต่อเดือน และหากรวมกับตลาดชุมชนประชารัฐที่กองทุนหมู่บ้านเปิด คาดว่าจะมีเงินทุนหมุนเวียนได้มากถึง 1.2 แสนล้านบาทต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น