“พาณิชย์” เผยสหรัฐฯ ออกระเบียบใหม่ กำหนดฉลากสินค้าอาหาร ให้ใช้ได้แค่ 2 คำ “If Used By และ Use By” ป้องกันผู้บริโภคสับสน หลังมีคำแจ้งเตือนเยอะไป คาดมีผลบังคับใช้กลางปี 61 แนะผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทย เตรียมพร้อม ปรับกระบวนการผลิตให้ตรงตามระเบียบ
นางจิรภาพรรณ มลิทอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐฯ เปิดเผยว่า สมาคมผู้ผลิตสินค้าโกรเซอรี่ของสหรัฐฯ (IGA) ร่วมกับสถาบันการตลาดอาหาร (FMI) ซึ่งเป็นองค์กรสินค้าอาหารตลาดค้าปลีกที่สำคัญสุดของสหรัฐฯ ได้กำหนดการใช้คำพูดแจ้งวันสิ้นสุดอายุบริโภคของสินค้าอาหารที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ให้มีความชัดเจนและไม่เกิดความสับสน โดยกำหนดข้อมูลการหมดอายุของสินค้าอาหารบนฉลากสินค้าอาหารต้องใช้คำพูด 2 คำนี้เท่านั้น คือ “Best If Used By” หรือ “Use By” โดยคาดว่าจะมีผลบังคับประมาณช่วงกลางปี 2561
สาเหตุที่ต้องมีกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบันหน่วยงานของสหรัฐฯ ไม่มีระเบียบบังคับว่าด้วยเรื่องการแจ้งวันสิ้นสุดอายุของสินค้าอาหารที่บริโภค ยกเว้นสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) มีข้อบังคับการแจ้งวันหมดอายุสำหรับสินค้าอาหารเด็กอ่อนเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา การแจ้งวันหมดอายุของสินค้าอาหารเป็นการดำเนินการโดยสมัครใจของผู้ผลิต ซึ่งโรงงานผลิตอาหารมีกลยุทธการใช้คำพูดในการแจ้งวันสิ้นสุดอายุบริโภคสินค้าอาหารในรูปแบบต่างๆ กัน เช่น ขายก่อนวันที่ ใช้ก่อนวันที่ หมดอายุวันที่ ดีที่สุดก่อนวันที่ ดีที่สุดภายในวันที่ ควรใช้ก่อนวันที่ เป็นต้น
“การกำหนดคำที่มีหลากหลายในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน ทำให้ผู้บริโภคมักจะทิ้งสินค้าตามวันที่ระบุบนฉลากสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ โดยมิได้ตรวจให้ถ่องแท้ว่าวันที่ระบุมีหมายความว่าอย่างไร และเป็นผลก่อให้เกิดการสูญเสียอาหารหรือทิ้งอาหารที่ยังสามารถบริโภคได้จำนวนมาก โดยมีการประเมินตัวเลขความสูญเสียจากวิธีแจ้งดังกล่าว ก่อให้เกิดการสูญเสียอาหารโดยมิได้บริโภคไปกว่าสัดส่วน 40%”
นางจิรภาพรรณกล่าวว่า การใช้คำว่า Best If Used By ให้ใช้กับสินค้าอาหารที่จะสูญเสียคุณภาพ หากเกินวันที่ระบุบนฉลากสินค้า ในขณะที่อาหารนั้นยังสามารถบริโภคได้หรือปลอดภัยในการบริโภค ได้แก่ สินค้าเครื่องกระป๋อง Shelf Stable Food เป็นต้น ส่วนคำว่า Use By ให้ใช้กับสินค้าอาหารที่มีขอบเขตหรือช่วงเวลาของความปลอดภัยในการบริโภค หรือสินค้าอาหารที่เน่าเสียง่าย หากบริโภคพ้นกำหนดไปแล้วจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น ผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ นม ไข่ เป็นต้น
ทั้งนี้ ระเบียบฉบับใหม่ เป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมอาหารสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อโรงงานผลิตอาหาร เกษตรกร ผู้บรรจุหีบห่อของสหรัฐฯ ที่จะต้องปฏิบัติและปรับปรุงฉลากสินค้าในการแจ้งอายุสินค้าอาหารให้ตรงตามที่กำหนด แต่ยังส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตสินค้าอาหารในต่างประเทศที่ส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ จะต้องปฏิบัติตามระเบียบใหม่เช่นกัน โดยผู้นำเข้าสินค้าอาหารต้องการให้ฉลากสินค้าอาหารนำเข้าไม่ขัดกับระเบียบของสหรัฐฯ ดังนั้น ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทย จะต้องเตรียมปรับปรุงในเรื่องฉลากการแจ้งอายุของสินค้าให้ตรงตามระเบียบสหรัฐฯ ด้วย