xs
xsm
sm
md
lg

กพท.เร่งศึกษาแผนแม่บทสนามบินทั่ว ปท. “พัฒนาเชิงพาณิชย์-ร่วมทุนเอกชน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” สั่ง กพท.เร่งศึกษาแผนแม่บทสนามบินพาณิชย์ ระยะ 20 ปี ครอบคลุมทั้งสนามบินรัฐ-เอกชน ลุยพัฒนาของเดิม รวมทั้งสร้างใหม่ เร่งสรุปใน มิ.ย.นี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามความคืบหน้าการจัดทำแผนแม่บทสนามบินพาณิชย์ ระยะ 20 ปี ว่า ได้มอบนโยบายให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำแผนไปศึกษารายละเอียด และคาดการณ์ปริมาณการเดินทางเพื่อพัฒนาสนามบินเดิม รวมทั้งสร้างสนามบินใหม่หากสนามบินเดิมไม่สามารถพัฒนาได้ หรือสร้างใหม่ในพื้นที่ที่ขาดการเชื่อมต่อด้านการขนส่งทางอากาศ โดย กพท.จะนำส่งแผนให้กระทรวงคมนาคมภายในเดือนมิถุนายนนี้

ทั้งนี้ แผนงานจะเริ่มตั้งแต่ปี 2560 โดยแผนจะรวบรวมการพัฒนาสนามบินพาณิชย์ทุกแห่งทั้งของรัฐ คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กรมท่าอากาศยาน และสนามบินอู่ตะเภา รวมถึงสนามบินของเอกชน ทั้งสมุย ตราด สุโขทัย ที่บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เป็นเจ้าของ

“ทาง กพท.ต้องไปศึกษาภาพรวมว่าการพัฒนาปัจจุบันเป็นอย่างไร สนามบินที่ตอนนี้เต็มการรองรับ จะขยายพื้นที่เดิม หรือสร้างใหม่ไปเลย รวมทั้งต้องดูจุดที่ต้องสร้างสนามบินใหม่ว่าควรเพิ่มเติมในพื้นที่ไหนบ้างที่ยังขาดการเชื่อมต่ออยู่ อย่างสนามบินสุวรรณภูมิที่ขณะนี้กำลังพัฒนาเฟส 2 ก็ต้องไปดูว่าแผนจะเสร็จเมื่อไหร่ รองรับได้เท่าไหร่ แต่มั่นใจว่าเฟส 2 ก็คงไม่พอรองรับแล้ว เราอาจต้องดูไปถึงการเพิ่มอาคารผู้โดยสาร หรือการสร้างรันเวย์ที่ 4 แต่ได้ให้แนวทางไปว่า กพท.ควรพิจารณาความจำเป็นของการมีรันเวย์ที่ 4 ให้ชัดเจนก่อนว่าจำเป็นหรือไม่ โดยให้เปรียบเทียบกับสนามบินลอนดอนแกตวิก ที่เขามีเพียง 2 รันเวย์ มีเที่ยวบินมากกว่าเรา แต่เขาสามารถบริหารไม่ให้แออัดได้ ก็แสดงว่าเรายังบริหารได้ไม่ดีพอหรือไม่” นายอาคมกล่าว

นอกจากนี้ยังมีการหารือแนวทางที่จะว่าจ้างเอกชนเข้ามาร่วมบริหารสนามบินด้วย โดย กพท.ต้องไปดูรูปแบบการว่าจ้างที่เหมาะสมว่ารัฐบาลควรเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด หรือให้เอกชนช่วยลงทุน และ กพท.ต้องเตรียมการกำกับให้ดี โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย เพราะปัจจุบันองค์กรที่เป็นเจ้าของและบริหารสนามบินมีแค่ประเภทรัฐเป็นเจ้าของพร้อมบริหาร และเอกชนเป็นเจ้าของพร้อมบริหาร แต่ยังไม่เคยมีรูปแบบรัฐเป็นเจ้าของแต่เอกชนบริหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น