กรมทางหลวงเตรียมศึกษาออกแบบมอเตอร์เวย์ สายนครราชสีมา-ขอนแก่น ต่อขยายจากสายบางปะอิน-นครราชสีมา เปิดเส้นทางสายอีสานเป็นทางเลือกที่สะดวก รวดเร็ว เล็งใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ก่อสร้างเพื่อสร้างความมีส่วนร่วม พร้อมลุยเบิกจ่ายงบประมาณปี 60 เป้าหมายที่ 98%
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า แผนงานทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์) หรือทางหลวงพิเศษสายตะวันออกเฉียงเหนือ มีเส้นทางจากบางปะอิน-นครราชสีมา-ขอนแก่น-หนองคาย ซึ่งกรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างช่วงบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตรนั้น ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักสะพาน กรมทางหลวงเตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาส่วนต่อขยาย โดยเบื้องต้นจะศึกษาเฟสแรกต่อจากนครราชสีมา-ขอนแก่น ระยะทางประมาณ 169 กิโลเมตรก่อน ทั้งในเรื่องแนวเส้นทาง และแบบที่เหมาะสม รวมถึงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และแหล่งเงินทุน เบื้องต้นประเมินว่าควรใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์มาลงทุนเหมือนมอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุด โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี
ส่วนสายขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 160 กิโลเมตร จะทยอยดำเนินการเป็นเฟสต่อไป ซึ่งเป็นไปตามแผนใหญ่ที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือไจก้า ได้ศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2540 แต่การดำเนินงานมีความล่าช้า โดยเมื่อต่อเชื่อมเส้นทางได้ตลอดแนว มอเตอร์เวย์สายนี้จะเป็นเส้นทางเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษที่หนองคาย ขณะที่จะรองรับสินค้าจากเวียงจันทน์ สปป.ลาวที่มีปริมาณสูงด้วย นอกจากนี้ยังมีแนวเส้นทางตัดกับทางหลวงหมายเลข 12 ตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (E-W Corridor) แม่สอด-สุโขทัย-พิษณุโลก-หล่มสัก-น้ำหนาว-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-นาไคร้-มุกดาหาร) อีกด้วย
“ปัจจุบันกองทุนมอเตอร์เวย์มีรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 16-18 ล้านบาทต่อวัน หรือ 5,000-6,000 ล้านบาทต่อปี การลงทุนมอเตอร์เวย์โดยนำเงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์มาก่อสร้างทำให้มีเส้นทางที่เพิ่มขึ้นและจะมีรายได้กลับมาสู่กองทุนมากขึ้น เป็นหลักการว่าผู้ใช้ทางมีส่วนร่วมในการเป็นผู้จ่ายเพื่อสร้างทางเพิ่ม และช่วยผ่อนปรนการลงทุนของภาครัฐลง” นายธานินทร์กล่าว
อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวว่า ในปี 2561 กรมฯ ได้จัดทำแผนงานก่อสร้าง บูรณะซ่อมแซม โดยตั้งวงเงินงบประมาณประจำปีไว้ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 2560 ที่ได้รับงบประมาณ 9.1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีหลายโครงการที่ต้องเร่งดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 กรมฯ สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ถึง 94% อยู่ในอันดับ 6 ของประเทศ ซึ่งโครงการในปี 2560 ได้ดำเนินการประมูลครบแล้วเพื่อเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยตั้งเป้าที่ 98%