ไจก้าช่วยศึกษาแผนแม่บทระบบรางระยะที่ 2 “อาคม” เผย แผนระยะ2 เป็นระบบย่อยเชื่อมโยงโครงข่ายหลักของแผนระยะที่ 1 เน้นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพื้นที่สถานี และย่านธุรกิจการค้า และต่อยอดกับเมืองใหม่
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา “Defing the 2 Blueprint for Bangkok Mass Rapid Transit” ว่า เป็นการสร้างความรู้และความเข้าใจต่อการจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงพื้นที่ต่อเนื่อง ระยะที่ (M-MAP 2) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประเทศญี่ปุ่น โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือไจก้า ให้ความสนับสนุนทำการศึกษาทั้งหมด ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
ทั้งนี้ แผนแม่บทระบบรางระยะที่ 2 จะเน้นที่โครงข่ายย่อย เพื่อให้ครอบคลุมโครงข่ายในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มากที่สุด โดยการออกแบบจะต้องคำนึงถึงการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะพื้นที่สถานี และย่านธุรกิจการค้า เพื่อเป็นโอกาสเชื่อมระหว่างระบบขนส่งและย่านธุรกิจ และยังให้ความสำคัญเรื่องของการวางแผนต่อยอดเมืองใหม่ ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่กับโครงสร้างพื้นฐาน ถือว่าเป็นการบูรณาการใหม่ โดยที่ผ่านมาจะเน้นหนักด้านโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้นเพื่อให้เป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์
พร้อมกันนี้ จะทบทวนเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งทางรางที่มีอยู่ในแผนแม่บทของไทยระยะที่ 1 ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา อย่างน้อยจะต้องให้เสร็จทั้ง 10 สาย ถือว่าเป็นโครงข่ายหลัก และจะต้องเร่งผลักดันการสร้างอุตสาหกรรมราง ซึ่งได้อธิบายทางไจก้าว่ารัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนเรื่องการลงทุนระบบรางกว่า 80% โดยจะเกิดความสอดคล้องเรื่องของการสร้างงานในระบบได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ด้านการพัฒนาบุคลากรนั้น ได้นำเสนอให้ทางไจก้าช่วยพิจารณาเรื่องการวางแผนว่าระยะที่ 1 และระยะที่ 2 จะเป็นในรูปแบบใด ทั้งนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันจะเร่งทำการศึกษาทั้ง 2 ระยะให้เสร็จสมบูรณ์ ก่อนจะส่งต่อรายละเอียดผลการศึกษาให้กับรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อดำเนินการในส่วนของระยะที่ 3 ว่าได้ศึกษาทั้ง 2 ระยะ ประกอบด้วย โครงข่ายย่อย และโครงข่ายหลักว่าต้องเพิ่มเติมอย่างไรบ้างนั้นถือว่าสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สนข.ได้กำหนดระบบขนส่งมวลชนทางรางที่จำเป็นสำหรับกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ต่อเนื่อง ระยะเวลา 20 ปี ตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ปี 2558-2565 โดยในแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนสายหลักและสายรองในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลระยะ 2 ได้กำหนดกรอบแนวคิดการพัฒนาเพื่อการเชื่อมต่ออย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อเพิ่มการรองรับโครงข่ายรถไฟฟ้าให้สอดคล้องกับการเติบโตของเมือง ทั้งนี้ หลังจากการสัมมนาครั้งนี้ ไจก้า และ สนข.จะสรุปรายละเอียดเพื่อนำมาใช้ประกอบการศึกษาจัดทำแผนแม่บทระยะที่ 2 (M-MAP 2) ต่อไป