“อภิรดี” สั่งพาณิชย์ภาค 6 แห่ง ลงพื้นที่สำรวจผลผลิตพืชเกษตรที่ออกสู่ตลาดตามฤดูกาลอย่างใกล้ชิด ขอให้ติดตามสถานการณ์ผลิต ราคา และหาตลาดรองรับ เพื่อป้องกันปัญหาราคาตกต่ำ พร้อมสั่งให้เตรียมรับมือผลผลิตข้าวนาปรังที่จะเริ่มออกสู่ตลาด ขณะที่มันสำปะหลังได้รับการดูแลแล้ว
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้พาณิชย์ภาค (Mini MOC) ที่มีอยู่ทั้ง 6 ภาค ไปดำเนินการตรวจสอบสถานการณ์ผลผลิตทางการเกษตรที่จะออกสู่ตลาดตามฤดูกาลทุกรายการสินค้า โดยให้ประเมินแนวโน้มผลผลิต สถานการณ์ด้านราคา และการจัดทำแผนงานด้านการตลาดเพื่อช่วยระบายผลผลิต เพราะในแต่ละปี ช่วงที่ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาด มักจะมาควบคู่กับปัญหาราคาตกต่ำ และกระทบเกษตรกรที่ขายผลผลิตได้ไม่คุ้มกับต้นทุน
“พาณิชย์จังหวัดจะเป็นทัพหน้าในการดูแลพืชเกษตร ที่จะออกสู่ตลาดตามฤดูกาล เพราะเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ จะรู้ว่าช่วงนี้ผลผลิตอะไรกำลังออกสู่ตลาด สถานการณ์ด้านราคาเป็นยังไง แนวทางการให้ความช่วยเหลือ เช่น การจัดหาตลาดรองรับ การระบายผลผลิตออกจากแหล่งผลิต การเชื่อมโยงตลาดเป็นยังไง ถ้าทำได้และแก้ปัญหาในพื้นที่ได้เลย ก็ให้รีบดำเนินการ แต่ถ้าปัญหาสินค้าตัวใด ไม่สามารถแก้ได้ ก็ให้นำเสนอเข้าสู่ส่วนกลาง จะได้หามาตรการในระดับนโยบายเข้าไปช่วยเหลือต่อไป”
สำหรับสินค้าเกษตรตามฤดูกาลที่จะออกสู่ตลาดที่จะต้องติดตาม ก็คือ ข้าวนาปรัง ที่จะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน มี.ค. เป็นต้นไป มันสำปะหลัง ที่ผลผลิตกำลังออกสู่ตลาดในขณะนี้ รวมถึงหอมแดง หอมหัวใหญ่ กระเทียม ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง มันฝรั่ง ที่อยู่ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด ก็ต้องไปติดตามดูว่า แต่ละตัวมีปัญหาด้านการตลาดอย่างไร จะต้องเร่งแก้ปัญหาลักษณะใด
ทั้งนี้ ล่าสุด สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแต่ละจังหวัดที่เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเกษตรสำคัญ ได้มีการลงพื้นที่ไปสำรวจปริมาณผลผลิตและรับฟังปัญหาจากเกษตรกรอย่างใกล้ชิดแล้ว โดยได้ทำงานกันเป็นทีม สามารถบริหารจัดการและดูแลพืชเกษตรไม่ให้มีราคาตกต่ำ และแก้ไขปัญหาราคาพืชเกษตรตกต่ำอย่างได้ผล
นายธวัชชัย เหล่าวิรุฬห์ พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า พาณิชย์ภาค 2 (Mini MOC 2) ได้หารือร่วมกับพาณิชย์จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ในเรื่องการบริหารการจัดการสินค้าเกษตรที่สำคัญของพื้นที่ ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงที่มันสำปะหลังออกสู่ตลาดมาก ได้มีการติดตามสถานการณ์ผลผลิต และติดตามดูแลการรับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกร เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งการกำชับให้มีการปิดป้ายแสดงราคา การตรวจสอบเครื่องชั่ง การตรวจวัดเชื้อแป้ง โดยราคารับซื้อหัวมันสดปัจจุบันที่เชื้อแป้ง 25% อยู่ที่ 1.70 - 1.85 บาทต่อกิโลกรัม (กก.)
นอกจากนี้ ยังเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรมีการนำมันสำปะหลังไปแปรูปมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ที่สามารถรับประทานเป็นอาหารได้ การแปรรูปเป็นมันเส้นสะอาดส่งเข้าโรงงานเอทานอล และส่งออกไปผลิตแอลกอฮอล์ รวมทั้งนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เป็นต้น
สำหรับพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังมากที่สุด คือ จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่เพาะปลูกว่า 1.9 ล้านไร่ ผลผลิตประมาณ 7 ล้านตัน มีเกษตรกร 73,000 ครัวเรือน ขณะนี้ผลผลิตได้เก็บเกี่ยวไปแล้วกว่า 60% หรือประมาณ 4 ล้านตัน โดยในจังหวัดนครราชสีมา มีโรงแป้ง 24 แห่ง มีลานมันอีกประมาณ 150 ลาน