“การบินไทย” MOU “แอร์บัส” ศึกษาการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่อู่ตะเภา ยกระดับเป็นศูนย์ที่ทันสมัยแห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก “สมคิด” ชี้สะท้อนถึงศักยภาพ EEC และสร้างรายได้ให้กับการบินไทยและประเทศไทยอย่างยั่งยืน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (TG MRO Complex Development) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานแห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับบริษัท แอร์บัส ซึ่งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแห่งใหม่นี้จะเป็นหนึ่งในศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีความทันสมัยและครอบคลุมการบริการด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ให้บริการตั้งแต่การซ่อมบำรุงย่อยไปถึงการซ่อมบำรุงใหญ่สำหรับเครื่องบินในหลากหลายประเภท โดยจะนำเทคโนโลยีดิจิตอลล่าสุดมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลการบำรุงรักษาเครื่องบิน รวมทั้งเทคนิคการตรวจสอบขั้นสูง นอกจากนี้ ยังมีโรงซ่อมอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงที่ผลิตช่างฝีมือ และนายช่างอากาศยานตามมาตรฐานระดับสากล รองรับการขยายตัวของธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานในอนาคต
โดยโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พ.ศ. 2560-2564 เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO หรือ Maintenance, Repair and Overhaul) ที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียแปซิฟิก เพียบพร้อมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยด้วยมาตรฐานระดับสากล รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินตามนโยบายของรัฐบาล
จากข้อมูลของแอร์บัสระบุว่า เครื่องบินที่แอร์บัสผลิตและขายในสัดส่วนกว่า 40% อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเที่ยวบินก็มากอยู่ในเอเชีย ดังนั้นความต้องการซ่อมบำรุงจึงมีมากขึ้น
นายสมคิดกล่าวว่า การที่แอร์บัสตัดสินใจเข้าร่วมโครงการกับการบินไทยเพราะเชื่อมั่นประเทศไทยสูง และมองไทยจะเป็นศูนย์กลางการบิน ทั้งนี้สะท้อนความมั่นใจของต่างประเทศที่มองว่าไทยเป็นเสาหลักของอาเซียน จึงถือว่าวันนี้เป็นนิมิตหมายอันดี นโยบายของเราจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค การมีศูนย์ซ่อมฯ ที่ทันสมัยจะเป็นธุรกิจที่ทำรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศ
“สิ่งที่เราคิดสิ่งที่เราฝันมันเริ่มมาและกำลังขึ้นมา อนาคตข้างหน้าก็จะทยอยกันมา คอยดูต่อไป และแสดงว่าเขาเห็นศักยภาพของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ขณะนี้ไม่เพียงจะมีเรื่องการบิน แต่ยังมีทุกมิติอุตสาหกรรมใหม่เริ่มมา ด้วยการขับเคลื่อนของรัฐบาล โครงการลงทุนต่างๆ ที่กำลังดำเนินการโดยกระทรวงคมนาคมในปีนี้ และคาดว่าทุกอย่างจะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใน 1-2 ปีนี้ และหากเรายังรักษาสถานการณ์เช่นนี้ เชื่อว่าภายใน 3-4 ปีประเทศไทยจะไปได้อีกไกล” นายสมคิดกล่าว
นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทยฯ กล่าวว่า การบินไทยได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับแอร์บัสเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็น และร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (TG MRO Complex Development) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC หรือ Eastern Economic Corridor) ปี 2560-2564 เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO หรือ Maintenance, Repair and Overhaul) ที่ทันสมัยที่สุดของเอเชียแปซิฟิก ที่เพียบพร้อมด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ด้วยมาตรฐานคุณภาพระดับสากล รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแห่งใหม่จะให้บริการแก่สายการบินทั่วภูมิภาคและทั่วโลก เพื่อสร้างรายได้ให้กับการบินไทยและประเทศไทยอย่างยั่งยืน นำพาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 เป็นมหานครแห่งอนาคต Gateway to Asia
ด้าน ร.อ.มนตรี จำเรียง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน THAI กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เริ่มโครงการตั้งแต่ พ.ย. 59 โดยศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการของตลาดเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และได้ส่งเอกสารชี้ชวนการลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งมีเพียงแอร์บัสได้แสดงความสนใจในธุรกิจ
บริษัทฯ มีเป้าหมายโครงการพัฒนาธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานให้มีความทันสมัยก้าวขึ้นเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของโลกและทำรายได้ให้การบินไทยอย่างยั่งยืน โดยมี 3 กลยุทธ์ คือ 1) Good Partnership ร่วมลงทุนกับผู้ผลิตอากาศยานที่มีศักยภาพสูง 2) 4 Great Pillars เน้นพัฒนากิจการสำคัญเพื่อสร้างรากฐานศูนย์ซ่อมฯ ได้แก่ ศูนย์ซ่อมใหญ่อากาศยานลำตัวกว้างและลำตัวแคบ, โรงซ่อมบำรุงอากาศยานอัจฉริยะ, ศูนย์ซ่อมวัสดุผสมสังเคราะห์ และศูนย์ฝึกอบรมช่างฝีมืออากาศยาน 3) 3 Base Mission คือการพัฒนาปรับปรุงศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานเดิมทั้งที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ด้วยการพัฒนาโรงซ่อมอากาศยานด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลและนวัตกรรมที่ทันสมัย
มิสเตอร์ฟาบริซ เบรจิเย่ร์ ประธานบริษัท แอร์บัส กล่าวว่า โครงการใหม่ที่น่าตื่นเต้นนี้จะช่วยตอบสนองความต้องการสำหรับการให้บริการในการบำรุงรักษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยจำนวนฝูงบินในภูมิภาคที่จะเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าหรือกว่า 15,000 ลำ ในอีก 20 ปีข้างหน้า โครงการนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีแก่ประเทศไทยในการพัฒนาขอบเขตการให้บริการในภาคธุรกิจการบิน