ปี 2560 นับเป็นปีที่น่าจับตามองถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไปสู่โรดแมปประเทศไทย 4.0 และหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ระเบียงเขต ศก.ภาคตะวันออก (EEC) และการขับเคลื่อนยกระดับเอสเอ็มอี "ผู้จัดการรายวัน" จึงได้สัมภาษณ์ "อุตตม สาวนายน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกับภารกิจและนโยบายภายใต้ข้อจำกัดจากเงื่อนเวลา แต่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยสูง
กระทรวงอุตสาหกรรมวางเป้าหมายการดำเนินงานปี 2560 ไว้อย่างไร
- เราวางเป้าหมายวาระการทำงานหรือ Agenda บูรณาการที่เสริมจากงานประจำ เช่น การดูแลสภาพแวดล้อมโรงงาน การผลิต การส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยกตัวอย่างเหล่านี้คืองานประจำ แต่ปีนี้ (2560) เราจะเน้นงานบูรณาการที่มีเป้าหมายชัดเจนอีกด้วย ซึ่งเป็นงานที่จะช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติคือไทยแลนด์ 4.0 ระยะ 20 ปี ซึ่งจำเป็นที่จะต้องวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับไทยแลนด์ 4.0 ที่จะมีการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจให้ได้ โดยรัฐบาลนี้มีโรดแมป และมีเวลาที่จะดำเนินงานชัดเจน ซึ่งงานเหล่านี้คือเป้าหมายที่วางรากฐานไว้ในเวลาที่เหลือ
งานที่กำหนดเป้าหมายไว้ดังกล่าวประกอบด้วยอะไรบ้าง
- งานที่กำหนดไว้ประกอบด้วย 3 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ 1. การยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วย 10 อุตสาหกรรม แบ่งเป็น การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม (S-Curve) ได้แก่ อุตฯ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S Curve) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน และมีผู้สนใจลงทุน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและลอจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เราต้องทำเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยและยกระดับความสามารถของเศรษฐกิจไทย
จากเดิมเศรษฐกิจไทยเราพึ่งการส่งออกถึง 70% ของจีดีพี เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ดีไทยก็จะถูกกระทบด้วย ดังนั้นจึงต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายในตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่เรียกว่า Local Economy ก็คือการยกระดับสินค้าอุตสาหกรรมเดิมที่ส่งออกให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นของเราเองเน้นขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะผันผวนแต่สินค้าและบริการเหล่านี้ก็มีมูลค่าสูงผลกระทบจะน้อยกว่า 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายจึงจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่
เป้าหมายการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมวางไว้อย่างไร
- Agenda แรกคือการยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่แล้ว เรื่องที่ 2 คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งชัดเจนอยู่แล้วว่ามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจมาโดยตลอดในแง่โครงสร้าง การจ้างงานแม้มูลค่าจะยังไม่สูง นี่คือเหตุผลที่ต้องกลับมาว่าเราจำเป็นต้องส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเพื่อ 1. ให้เป็นพลังขับเคลื่อนใหม่เป็นเอสเอ็มอีที่ใช้นวัตกรรมในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ใช่รับจ้างผลิต 2. การทำให้เอสเอ็มอีไทยเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายเพราะอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นลักษณะกลุ่มหรือ Cluster มีบริษัทใหญ่ มีเอสเอ็มอีเป็นคู่ค้าหรือซัปพลายเออร์ให้กัน ซึ่งเทรนด์ในโลกไม่ใช่บริษัทใหญ่สั่งผลิตนั่นโมเดลเดิมแต่วันนี้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่พึ่งนวัตกรรมเอสเอ็มอี ซึ่งโมเดลโลกปัจจุบันว่าด้วยการใช้นวัตกรรมเอสเอ็มอีเอื้อบริษัทใหญ่ต่างจากอดีตที่บริษัทใหญ่คิดค้นนวัตกรรมแล้วไปจ้างเอสเอ็มอี เราจึงต้องการเอสเอ็มอีแบบลักษณะนี้
เป้าหมายการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือEEC
- เรื่องที่ 3 ต่อจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและพัฒนาเอสเอ็มอีแล้วเราก็ต้องมองการพัฒนาในเชิงพื้นที่ซึ่งถือเป็นแกนสำคัญของไทยแลนด์ 4.0 โดยเราจะทำในระดับท้องถิ่นจากพื้นที่ต่างๆ ของไทยขึ้นมา โดยให้แต่ละพื้นที่มีความสามารถที่จะนำพาการพัฒนาอุตสาหกรรมของตนเองได้ แต่ละที่จุดเด่นไม่เหมือนกัน นี่จึงนำมาสู่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ซึ่งเราต้องการให้เป็นจุดเริ่มต้นให้เห็นชัดเจน
นอกจากนี้ EEC ยังจะเป็นพื้นที่ในการกระตุ้นการลงทุนขนาดใหญ่รอบใหม่ของประเทศซึ่งจำเป็นที่จะเดินยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เพราะการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีการลงทุนรอบใหม่ เพราะ 30 ปีที่ผ่านมาเราทำมาแล้วและสร้างอุตสาหกรรมหลักทั้งรถยนต์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ฯลฯ ก็พัฒนาไทยมาด้วยดี แต่ขณะนี้คงไม่พอเพราะเป็นสินค้าเดิมๆ ที่ส่งออกมูลค่าสูงไม่พอ รถยนต์ก็ต้องต่อยอดไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV อาหารต้องไปสู่อาหารแห่งอนาคต ก็ต้องมีพื้นที่เริ่มชัดเจนทำไมต้องเป็น EEC ก็เพราะมีฐานเดิมคืออีสเทิร์นซีบอร์ดที่เริ่มไว้เดิมการต่อยอดจึงสมควรทำ
EEC จะกระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ อีสาน เหนือ กลาง ใต้ โดยมีอุตสาหกรรมหนึ่งที่เป็นจุดแข็งของประเทศ มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ซึ่ง EEC นำร่องที่มีอุตสาหกรรมเดิมต่อยอด มีโครงสร้างพื้นฐานทั้งมอเตอร์เวย์ มีท่าเรือแหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภา จึงกำหนดใน 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ฉะเชิงทรา และชลบุรี ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ๆ เป้าหมายสำคัญที่จะทำให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในปี 2560
นอกเหนือจาก 3 เรื่องนี้แล้วยังมีแนวทางที่จะดำเนินการอะไรอีกหรือไม่
- ยังมีเรื่องอีก เช่น การยกระดับผลิตภาพและผลผลิตในเศรษฐกิจไทย หรือ Productivity เพราะหัวใจสุดท้ายคือขีดความสามารถทางการแข่งขัน เราต้องสร้างนวัตกรรมมูลค่าสูง ที่จะต้องเริ่มกันตั้งแต่วัตถุดิบคือตั้งแต่การเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ทั้งหมดจำเป็นต้องดูเรื่องนี้ ขณะเดียวกันจะโยงไปสู่การเตรียมพร้อมกำลังคนในอุตสาหกรรมต่างๆ เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายและเอสเอ็มอีทำอย่างไรรองรับพอและเป็นคนที่มีคุณภาพสามารถนำไปสู่ผลิตภาพที่สูง ซึ่งต้องเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม และการดูแลสภาพแวดล้อม การผลิต โรงงานทั้งหมดโยงไปถึง EEC อุตสาหกรรมเป้าหมายคำนึงถึงประโยชน์ สิ่งแวดล้อมที่ต้องดูแล นี่คือ Agenda
อุตสาหกรรมเป้าหมายเราได้วางโรดแมปไว้อย่างไร
- แต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมายเรามีโรดแมปที่ชัดเจนไม่ได้มองแค่สิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่จะมีมาตรการอื่นๆ เข้ามาเพื่อก่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ โดยมาตรการของบีโอไอถือเป็นมาตรการจูงใจในส่วนของอุปทาน ซึ่งจะต้องมีอุปสงค์ด้วยเพื่อให้เกิดขึ้นได้ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV รัฐบาลก็ต้องหารือกับเอกชนมาร่วมกันว่าที่จะเกิดขึ้นนั้นบีโอไอสิทธิประโยชน์แบบนี้ แล้วกระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการเป็นพิเศษ แต่ทำอย่างไรตลาดเกิดขึ้น คนไทยสนใจที่จะซื้อ เหมือนไก่กับไข่หากจะให้เขาลงทุนก็ต้องเห็นศักยภาพตลาดด้วย เราเองก็ต้องดูอุปสงค์ไปด้วย เช่น รัฐจะเน้นใช้รถ EV ด้านขนส่ง เราก็จะทำลักษณะนี้ทุกอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นเจ้าภาพ แต่เราคงทำคนเดียวลำพังไม่ได้ต้องมีหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาร่วมแล้วเราก็ประสานงานกัน เราจึงได้บอกตั้งแต่แรกว่าเป็น Agenda แบบบูรณาการ พอแต่ละอันได้โรดแมปก็เดินได้ รัฐบาลก็รู้ เอกชนก็เห็นทางนี่คือแนวทาง
การวางโรดแมปไว้จะทำให้เกิดการสานต่อเนื่องหรือไม่
- เราได้กำหนดโรดแมปให้ชัดเจน และวางรากฐานให้เกิดขึ้นจริงโดยเฉพาะ EEC ที่เราวางไว้ว่าจะดำเนินการใน 15 โครงการ 4 กลุ่ม แต่จะเลือกดำเนินการที่จะให้เกิดขึ้นจริงก่อน 5 โครงการหลัก ได้แก่ 1. สนามบินอู่ตะเภา โดยระยะแรกจะเปิดอาคารผู้โดยสารที่ 2 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 3 ล้านคนต่อปีในกลางปีนี้ และจะเริ่มลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานกับบริษัทการบินไทย และพันธมิตร 2. แนวทางการลงทุนรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก ให้เชื่อมต่อ 3 สนามบิน ได้แก่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ซึ่งจะเปิดให้เอกชนร่วมทุนได้ปลายปีนี้ 3. ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 โดยจะเร่งรัดกระบวนการลงทุนร่วมระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพื่อรองรับการส่งออกรถยนต์เพิ่มอีก 1 ล้านคันต่อปี และบูรณาการให้เกิดการเชื่อมการขนส่งด้วยโครงการรถไฟไทย-จีน มากที่สุด 4. แผนลงทุน Bio Economy และเร่งรัดการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า EV และ 5. ให้ กนอ.จัดตั้งศูนย์ดูแลนักลงทุน One Stop Service ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อให้ข้อมูลคำปรึกษารองรับการลงทุน
ทำไมต้องอู่ตะเภา ทำไมต้องรถไฟความเร็วสูง นี่คือวางพื้นฐานตอนนี้เอาไว้ถ้าตรงนี้เกิดเมืองใหม่จะตามมาแน่นอน โรดแมปแต่ละเรื่องเกิดจริงเป็นพื้นฐานให้ทำต่อเนื่องได้ไม่ว่ารัฐบาลไหนมา ถ้าเราทำดีเขาก็จะไม่รื้อเพราะถ้าเราวางโรดแมปเฉยๆ ไม่มีการลงมือกระทำหรือปฏิบัติมันจะลอยๆ เขาก็ยกเลิกได้ ผมเลยบอกข้าราชการเลยว่าปีนี้ต้องเป็นปีแห่งการ ACTION ที่เป็นรูปธรรม จะเห็นว่าใช้เวลามากหน่อยแต่เมื่อเสร็จจะเห็นว่าใครทำอะไร เมื่อไหร่ มีแม่งานชัดเจน
โรดแมปอุตสาหกรรมเป้าหมายจะเห็นได้เมื่อใด
- รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV กำลังหาแพกเกจสนับสนุน 2 ส่วน คือ บีโอไอ และจากกระทรวงการคลัง ซึ่งคลังจะดีไซน์มาประกอบหลักการใหญ่ ต้องได้รับส่งเสริมฯ จากบีโอไอก่อนจึงจะได้รับสนับสนุนจากคลังเพื่อให้เกิดแรงจูงใจและได้คำนึงถึงตลาดไทย คือได้คิดโรดแมปครบถ้วน รถไฟฟ้าจะเกิดขึ้นเป็นตอนๆ คงจะไม่ใช่ EV เลยต้องเริ่มจากไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด ผู้ประกอบการก็ต้องตกลงการลงทุนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ขณะเดียวกันก็ต้องดูสถานีชาร์จ ต้องคุยกระทรวงพลังงาน ใครลงทุน จะจูงใจเอกชนอย่างไร กระทรวงอุตฯ ต้องดูมาตรฐานหัวชาร์จที่จะยึดความปลอดภัยเป็นหลัก หน้าตารูปแบบต่างได้แต่ความปลอภัยต้องเป็นไปตามที่กำหนด ก็จะบอกชัดเจน จะเห็นแพกเกจภายใน 1 เดือนจะนำเสนอรัฐบาลต่อคณะรัฐมนตรีให้เห็นภาพทั้งหมด
นอกจากนี้อาจจะยื่นโรดแมปต่อคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองที่อาจมีประเด็นให้ช่วยพิจารณาบางส่วน แต่ทั้งหมดจะเริ่มจากรถยนต์ EV และอาจจะควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เข้าไปเป็นคู่แรกก่อน ต่อไปเรื่องของอาหารแห่งอนาคตและเมดดิคัลฮับ หลังจากที่เรานำร่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพไปแล้ว นั่นเป็นแค่เปิดตัวที่จะลงใน EEC ต้องดูพื้นที่อื่นว่าจะเกิดได้อีกไหมโดยเฉพาะที่อีสาน ที่จะกำหนดโรดแมปที่อีสานด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นการทำงานแบบประชารัฐจริงๆ