xs
xsm
sm
md
lg

เผยสินค้าไทยใช้ GSP ปี 59 เพิ่ม 11% ช่วยประหยัดภาษีกว่า 5.2 พันล้านบาท ทำให้สินค้าแข่งขันได้ดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กรมการค้าต่างประเทศ” เผยไทยส่งออกภายใต้ GSP ปี 59 มูลค่า 4.45 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเกือบ 11% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 63.76% ช่วยไทยเซฟเงินได้กว่า 5.2 พันล้านบาท ระบุตลาดสหรัฐฯ มีการใช้สิทธิสูงสุด มีสัดส่วนถึง 89% แนะตรวจสอบก่อนส่งออกว่าสินค้าได้สิทธิ GSPหรือไม่ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปี 2559 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าภายใต้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ทุกระบบ มีมูลค่ารวม 4,451.77 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.78% จากปีก่อนที่มีมูลค่า 4,021.19 ล้านเหรียญสหรัฐ และคิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 63.76% ของการส่งออกสินค้าที่ได้สิทธิ GSP ทั้งหมดที่มีมูลค่า 6,982.45 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยผลจากการใช้สิทธิ GSP ทำให้ไทยสามารถลดหย่อนภาษีนำเข้าได้กว่า 155 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 5,200 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นแต้มต่อให้กับสินค้าไทยในการแข่งขันกับสินค้าของคู่แข่ง

ทั้งนี้ ประเทศที่มีสัดส่วนการใช้สิทธิ GSP สูง ได้แก่ สหรัฐฯ มีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ส่งออก 3,961.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.61%คิดเป็นสัดส่วนถึง 89% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด ขณะที่ประเทศอื่นๆ มีการใช้สิทธิรวมกันแค่ 11% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 310.14 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.38% รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มูลค่า 142.20 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.72% นอร์เวย์ มูลค่า 20.84 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 16.04% ญี่ปุ่น มูลค่า 17.56 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.55%

“สาเหตุที่การใช้สิทธิ GSP ของบางประเทศลดลง เช่น สวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์ มีการเก็บภาษีนำเข้าในอัตราต่ำอยู่แล้ว ญี่ปุ่นมีการไปใช้สิทธิภายใต้FTA ที่มีภาษีนำเข้าต่ำกว่าแทน ส่วนการส่งออกไปรัสเซียและเครือรัฐเอกราช ที่เพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะรัสเซียประสบปัญหาเศรษฐกิจ จากการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกและราคาน้ำมันที่ลดลง จึงมีการนำเข้าลดลง”

สำหรับสินค้าที่ใช้สิทธิ GSP สูงในปี 2559 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม มีสัดส่วนถึง 82% ของการใช้สิทธิ GSP เช่น เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักร ไฟฟ้า ยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ พลาสติก อุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์ เครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์เซรามิก เป็นต้น ส่วนสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป มีสัดส่วน 18% สินค้าที่ใช้สิทธิมาก เช่น เครื่องดื่ม อาหารปรุงแต่ง ผลไม้ ปรุงแต่ง ของปรุงแต่งจากธัญพืช น้ำตาล ผลไม้สด และเนื้อสัตว์ปรุงแต่ง เป็นต้น

นางดวงพรกล่าวว่า ปัจจุบันยังมีอกหลายประเทศที่ให้สิทธิ GSP แก่สินค้าไทย แต่ไทยยังคงใช้สิทธิ GSP ได้ไม่เต็มตามโควตาที่ได้รับ โดยมีสัดส่วนการใช้สิทธิรวมขณะนี้อยู่ที่ 63.76% จึงยังมีช่องว่างในการใช้สิทธิได้อีกมาก ซึ่งกรมฯ ขอให้ผู้ประกอบการที่จะทำการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ให้ GSP แก่สินค้าไทย ให้ตรวจสอบดูก่อนว่าสินค้านั้นๆ ได้รับสิทธิ GSP หรือไม่ ถ้าได้ก็ควรจะขอใช้สิทธิในการลดต้นทุนสินค้า เพื่อทำให้สินค้าแข่งขันได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับสินค้าของประเทศคู่แข่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น