“พาณิชย์” เผยส่งออกเดือน ม.ค.ประเดิมสวย โต 8.83% ขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เหตุสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมส่งออกได้ดีขึ้น ตลาดส่งออกกว่า 80% พลิกกลับมาเป็นบวกได้หมด คาดทิศทางส่งออกจะขยายตัวดีต่อเนื่อง ตามทิศทางเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจคู่ค้า รวมถึงราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทำเกษตรและสินค้าเกี่ยวเนื่องดีขึ้นตาม มั่นใจเป้าใหม่ 5% ทำได้แน่
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนม.ค.2560 มีมูลค่า 17,099.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.83% เป็นการขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา และยังถือเป็นมูลค่าการค้าที่กลับมาเป็นปกติ ไม่ลงไปต่ำถึงมูลค่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เหมือนเมื่อเดือน ม.ค. 2559 ที่มีมูลค่าส่งออก 15,711.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 16,273.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.17% โดยเกินดุลการค้า 825.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
“การส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการค้าโลก เพราะการค้าโลกเริ่มมีสัญญาณเป็นบวกตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค. 2559 แม้ว่าตลอดทั้งปีจะขยายตัวติดลบ 2.6% แต่การส่งออกไทยเริ่มพลิกเป็นบวกมาตั้งแต่ช่วงปลายปี และดีขึ้นมาต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน โดยประเมินว่าการส่งออกน่าจะปรับตัวดีขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะขณะนี้การค้าโลกเริ่มกลับมาเป็นปกติ เศรษฐกิจโลกก็ดีขึ้น เศรษฐกิจคู่ค้าก็ดีขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยดีขึ้นตามไปด้วย”
สำหรับการส่งออกเดือน ม.ค.ที่เพิ่มขึ้น มาจากการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 9.7% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี เช่น ยางพารา เพิ่ม 62.5% ผัก ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 48.8% ไก่แปรรูป เพิ่ม 8.6% แต่ข้าว มันสำปะหลังและกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ลด 20.2%, 11.1% และ 13.3% ตามลำดับ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 4.7% เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 4.0% แต่น้ำตาลทราย ลด 26.3% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ลด 6.8%
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่ม 7.6% สินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่ม เช่น ทองคำ เพิ่ม 157.6% เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เพิ่ม 30.1% แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่ม 8.6% น้ำมันสำเร็จรูป เพิ่ม 48.3% ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 1.5% ผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่ม 28.2% แต่ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ลด 5.9%, 6.4% และ 4.7% ตามลำดับ
ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ 80% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2559 โดยตลาดหลัก เพิ่มขึ้น 8.8% เช่น สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) เพิ่ม 10.4% สหรัฐฯ เพิ่ม 9.5% ญี่ปุ่น เพิ่ม 6.4% ตลาดศักยภาพสูง เพิ่ม 14.7% เช่น จีน เพิ่ม 30.8% เอเชียใต้ เพิ่ม 24.0% เกาหลีใต้ เพิ่ม 28.1% อาเซียน (9 ประเทศ) เพิ่ม 10.3% CLMV เพิ่ม 6.4% แต่ตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา และทวีปออสเตรเลีย ลด 19.2% , 1.6% แบะ 0.3% ตามลำดับ
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า การส่งออกในปีนี้จะทำได้ตามเป้าที่กำหนดไว้เดิม คือ ระหว่าง 2.5-3.5% แน่นอน และเป้าหมายใหม่ที่ 5% ก็มีความเป็นไปได้ เพราะปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดีต่อการส่งออกอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้า ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นและมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นแบบช้าๆ ที่ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันราคาสูงขึ้นตามไปด้วย โดยประเมินว่าราคาน้ำมันจะอยู่ในกรอบ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในยูโรโซน ที่หลายประเทศกำลังอยู่ในช่วงเลือกตั้ง เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยนและเพิ่มความไม่แน่นอนของการค้าและการลงทุนโลก แต่เชื่อว่า ในส่วนของค่าเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสามารถบริหารจัดการได้ โดยคาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 35.5-37.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทย หากโตที่ 3.5% จะมีมูลค่า 222,863 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือจะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 18,572 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากโตที่ 5% จะมีมูลค่า 226,093 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือจะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 18,841 ล้านเหรียญสหรัฐ