xs
xsm
sm
md
lg

ปลดแล้ว! ม.44 เด้ง “ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.” สางปัญหางานไม่เดิน โครงการค้างท่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร
“นายกฯ” ใช้ ม.44 ปลด “วุฒิชาติ” พ้นผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. ตั้ง “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” รองอธิบดีกรมทางหลวงรักษาการแทน พร้อมตั้งบอร์ดใหม่รวม 9 คน เชื่อเพื่อรื้อระบบทำงานใหม่ หลังงานค้างท่อ มีแต่ครหาล็อกสเปกไม่โปร่งใส โครงการหลุดแผน “พิชิต” มั่นใจงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2560 เรื่อง การปรับปรุงการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ใหม่ และตั้ง นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) รักษาการในตําแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย อีกตําแหน่งหนึ่ง จนกว่านายกรัฐมนตรีจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ ได้ให้ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับพ้นจากตําแหน่ง และให้ไปดํารงตําแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 68/2559 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐและการกําหนดกรอบอัตรากําลังชั่วคราว ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2559 จนกว่านายกรัฐมนตรีจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

ตามคำสั่งดังกล่าวทำให้ นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. ต้องพ้นจากตำแหน่ง ทันที ซึ่งรายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงเช้าวันที่ 23 ก.พ. นายวุฒิชาติได้เดินทางไปร่วมงานวันจัดตั้งบริษัทครบรอบ 6 ปีบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่สถานีรถไฟฟ้ามักกะสัน โดยอยู่ในงานเพียง 10 นาทีได้ขอตัวกลับหลังทราบคำสั่ง คสช.

สำหรับคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.ชุดใหม่ ประกอบด้วย นายวรวิทย์ จําปีรัตน์ เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการคือ นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่, นายบวร วงศ์สินอุดม, นายปิติ ตัณฑเกษม, พลเรือเอก ทวีชัย บุญอนันต์, นาวาอากาศเอก ธนากร พีระพันธุ์, นางอัญชลี เต็งประทีป, นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์, นายอํานวย ปรีมนวงศ์ รวม 9 คน

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนดังกล่าวเพื่อให้การทำงานเดินหน้า เป็นเรื่องของความเชื่อมั่น เมื่อให้ทำงานแล้วไม่เหมาะสมก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งหลังมีคำสั่งได้หารือกับ นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.แล้วเพื่อช่วยเร่งขับเคลื่อนงานที่คั่งค้าง เช่น การตั้งบริษัทลูกบริหารสินทรัพย์ การจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ซึ่งตามคำสั่ง คสช.ตั้งบอร์ด รวม 9 คน ซึ่งขอยกเว้น พ.ร.บ.รถไฟที่กำหนดบอร์ดที่ 7 คน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีการกำกับดูแลติดตาม มีความโปร่งใสมากขึ้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัญหาของ ร.ฟ.ท.ที่ผ่านมาคือการขับเคลื่อนโครงการได้ล่าช้า เรียกว่างานไม่เดินตามแผน หลายโครงการได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วแต่ไปติดขัดในขั้นตอนการจัดทำทีโออาร์ ประมูลไม่ได้ มีครหาล็อกสเปก ไม่โปร่งใสหลายอย่าง ทำให้หลายโครงการหลุดแผนงานที่กำหนด

มีโครงการล้มประมูลหลายครั้ง เช่น จัดซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน วงเงินกว่า 4 พันล้านบาท รถไฟทางคู่ 5 สาย ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. ราคากลาง 16,234,640,000 บาท, ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. ราคากลาง 9,853,260,000 บาท, ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. ราคากลาง 28,505,030,000 บาท, ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. ราคากลาง 23,921,710,000 บาท และช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กม. ราคากลาง 19,269,890,000 บาท ถูกตรวจสอบทีโออาร์ว่าล็อกสเปกเพื่อเอื้อผู้รับเหมาหน้าเดิมๆ

นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างสายสีแดงที่ล่าช้าอย่างมาก และมีการขยายสัญญาจนต้องเพิ่มค่าก่อสร้างให้ผู้รับเหมา ปัจจุบันรวมรถไฟทางคู่ที่ ครม.เห็นชอบและเริ่มกำลังก่อสร้าง และอยู่ระหว่างประมูล มูลค่ารวมกว่า 139,000 ล้านบาท ในปี 2560 จะมีการเสนอ ครม.อนุมัติโครงการรถไฟทางคู่อีก 9 สาย มูลค่ารวม 398,377 ล้านบาท ยังมีรถไฟความเร็วสูง 4 สาย มูลค่ากว่า 701,000 ล้านบาท รถไฟสายสีแดงอีก 70,000 ล้านบาท ยังมีแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย 31,000 ล้านบาท หากปล่อยให้การทำงานตามรูปแบบเดิมจะกระทบต่อนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่และการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมายแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น