xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมฯ แช่เยือกแข็งแจงข้อเท็จจริง พบสารตกค้างสินค้ากุ้งในสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยแจง “ข้อเท็จจริงการตรวจพบสารตกค้างของสินค้ากุ้งไทยในสหรัฐฯ” ยันสินค้าที่ถูกปฏิเสธทั้ง 5 รายการไม่ได้รับการตรวจสารไนโตรฟูราน แต่ถูกปฏิเสธการนำเข้าเพราะเป็นสินค้าตัวอย่างที่ส่งให้ลูกค้าสหรัฐฯ ทดสอบก่อนสั่งซื้อ

วันนี้ (21 ก.พ.) นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง และ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย จัดแถลงข่าวกรณีที่มีข่าวการที่สินค้ากุ้งไทยถูกสหรัฐอเมริกาปฏิเสธการนำเข้าในช่วงเดือนมกราคม ถึง 5 รายการ ด้วยเหตุที่ว่ามีการตรวจพบสารไนโตรฟูราน (Nitrofurans) ปนเปื้อนนั้น

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรณีปัญหาสินค้ากุ้งไทยถูกปฏิเสธการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกานั้น ขณะนี้สหรัฐฯ ไม่ได้แจ้งให้ประเทศไทยดำเนินการใดๆ เนื่องจากหลักเกณฑ์การนำเข้าสินค้าประมงของสหรัฐฯ จะมีระบบการควบคุมมาตรฐานโรงงานแปรรูปที่ดำเนินการโดยหน่วยงาน The United States Food and Drug Administration (USFDA) ของสหรัฐฯ เอง ไม่ได้มอบหมายให้หน่วยงานราชการของประเทศผู้ส่งออกทำหน้าที่กำกับดูแลแทน ดังนั้น โรงงานที่ประสงค์จะส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ ต้องจดทะเบียนและจัดทำระบบการควบคุมความปลอดภัยในการผลิตอาหารตามระบบ Hazards Analysis and Critical Control Point (HACCP) หลังจากนั้นหน่วยงาน USFDA จะจัดส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจโรงงาน หากผลการตรวจฯ ผ่านมาตรฐานโรงงานก็สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายยังสหรัฐฯ ได้ โดยไม่ต้องมีใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) จากหน่วยงานราชการของประเทศผู้ส่งออกกำกับไป

กรมประมงในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสัตว์น้ำส่งออกก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการตรวจสอบหาสาเหตุข้อเท็จจริง ซึ่งพบว่าผู้นำเข้าของบริษัท ณรงค์ซีฟูด จำกัด ได้แจ้งขอกลับเข้ามาสู่มาตรการตรวจสอบตามปกติ และอยู่ในระหว่างการพิจารณาดำเนินการของ USFDA หลังจากเคยถูกปฏิเสธการนำเข้าไป 1 รายการ เมื่อปี 2559 ซึ่งตามมาตรการของสหรัฐฯ กำหนดให้ต้องตรวจสอบสินค้าจำนวน 5 รุ่นอย่างต่อเนื่อง หากไม่พบปัญหาก็จะกลับเข้าสู่ระบบการตรวจสอบตามปกติ ทั้งนี้ สินค้าของบริษัทฯ ได้ผ่านการสุ่มตรวจจำนวน 11 รุ่นติดต่อกันแล้ว

สำหรับสินค้าที่เป็นปัญหาทั้ง 5 รุ่นนั้นมิได้รับการตรวจสอบว่าพบสารตกค้างไนโตรฟูรานแต่อย่างใด แต่เป็นการปฏิเสธการนำเข้า เนื่องจากสินค้ากุ้งทั้ง 5 รุ่นเป็นสินค้าตัวอย่างส่งให้กับลูกค้าในสหรัฐฯ ทดสอบก่อนมีคำสั่งซื้อ และ USFDA อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับสถานะการตรวจสอบเข้าสู่มาตรการตรวจสอบตามปกติ ทำให้สินค้าดังกล่าวยังอยู่ในมาตรการเฝ้าระวังซึ่งจะต้องถูกกักกันเพื่อตรวจวิเคราะห์ตามมาตรการที่สหรัฐฯ กำหนด แต่ด้วยเหตุผลที่ผู้นำเข้าจะต้องรับผิดชอบค่าตรวจวิเคราะห์และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการเก็บสินค้าเอง ดังนั้น ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ไม่ต้องการรับภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นกับสินค้าดังกล่าว จึงได้แจ้งขอทำลายสินค้ากุ้งทั้ง 5 รายการ

อย่างไรก็ตาม ข้อปฏิบัติของสหรัฐฯ เมื่อมีการทำลายสินค้าหรือปฏิเสธการนำเข้า เจ้าหน้าที่ต้องระบุสาเหตุของการทำลายสินค้าหรือปฏิเสธการนำเข้า และประกาศเป็น Import Alert ดังนั้น สินค้ากุ้งแช่เยือกแข็งทั้ง 5 รุ่นของบริษัทฯ จึงถูกประกาศว่าถูกปฏิเสธการนำเข้า เนื่องจากตรวจพบไนโตรฟูราน ตามที่เคยมีประวัติในรุ่นปี 2559 ไปโดยปริยาย

กรมประมงมั่นใจในระดับหนึ่งว่าสินค้ากุ้งของไทยนั้นมีมาตรฐานคุณภาพอาหารปลอดภัย เพราะเรามีกระบวนควบคุมสินค้าสัตว์น้ำส่งออกตลอดสายการผลิต ได้แก่ มาตรฐานการปฏิบัติทางการประมงที่ดีสำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (GAP) มาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์ฯ สำหรับโรงงานแปรรูป และมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (มกษ.) ของกุ้งแช่เยือกแข็ง ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินการควบคุมของกรมประมง ดังนี้

1. การควบคุมฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
1.1 กรณีตรวจพบว่าฟาร์มมีการใช้ยาและสารเคมีต้องห้ามที่ผิดกฎหมาย
1.1.1 ผู้ประกอบกิจการต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่ 30,000-300,000 บาท ตามมาตรา 150 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558
1.1.2 กรมประมงจะยกเลิกการรับรองมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) ของฟาร์ม อีกทั้งการกลับเข้าสู่การรับรอง GAP ฟาร์มจะถูกตรวจติดตามอย่างเข้มงวด
1.1.3 กรมประมงแจ้งให้โรงงานผู้ผลิตสินค้าไม่รับซื้อสัตว์น้ำจากฟาร์มที่ถูกยกเลิกการรับรองมาผลิต
1.2 เมื่อปี 2559 กรมประมงจัดทำแผนการสุ่มตรวจการจำหน่ายสารเคมีและปัจจัยการผลิตต้องห้ามในร้านค้า และสุ่มตรวจการใช้สารเคมีและปัจจัยการผลิตต้องห้ามในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อเป็นการป้องปรามมิให้เกิดปัญหาการใช้ยาและสารเคมีต้องห้ามที่ผิดกฎหมาย หากพบการลักลอบการจำหน่าย กรมประมงจะดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 หากพบใช้ในฟาร์ม กรมประมงจะยกเลิกการรับรอง GAP ของฟาร์ม
2. การควบคุมโรงงาน (กรณีพบการปนเปื้อนยาและสารเคมีต้องห้ามที่ผิดกฎหมายในผลิตภัณฑ์)
2.1 กรมประมงจะแจ้งโรงงานให้สืบหาสาเหตุและที่มาของปัญหา และจัดทำแผนการแก้ไขปัญหา รวมถึงแผนการป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคต โดยจะเข้าไปตรวจประเมินประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาและควบคุมมาตรฐานการผลิตของโรงงาน
2.2 หากพบว่าโรงงานไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมประมงจะระงับการส่งออกสินค้าของโรงงานเป็นการชั่วคราวจนกว่าโรงงานจะสามารถปรับปรุงระบบการควบคุมให้มีประสิทธิภาพ หากพบว่าโรงงานไม่สามารถควบคุมหรือรักษามาตรฐานในการผลิตได้ กรมประมงจะถอนโรงงานออกจากการรับรอง
2.3 หากแผนการแก้ไขของโรงงานมีประสิทธิภาพ กรมประมงจะเพิ่มความถี่ในการเข้าตรวจติดตามมาตรฐานการผลิตและสุ่มตัวอย่างสินค้าเพื่อตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของยาและสารเคมีต้องห้ามที่ผิดกฎหมายตามระยะเวลาที่เห็นว่าเหมาะสม

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกกุ้งไทยสูงเป็นอันดับ 1 โดยมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 45 และรองลงมา ได้แก่ ตลาดญี่ปุ่น ร้อยละ 22 และสหภาพยุโรป ร้อยละ 15 กรณีที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์สินค้ากุ้งไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางสมาคมฯ มีมาตรการให้โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่เป็นสมาชิกสมาคมเข้มงวดในการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสัตว์น้ำที่รับเข้ามาผลิต โดยจะมีการตรวจวิเคราะห์สารปฏิชีวนะก่อนรับซื้อวัตถุดิบอยู่แล้ว และมีการตรวจสอบคุณภาพในกระบวนการผลิตด้วย

ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่าจากมาตรการที่เข้มงวดของการดำเนินการดังกล่าว ประกอบกับระบบตรวจสอบมาตรฐานสินค้าของกรมประมงที่มีมาตรฐานเป็นที่เชื่อถือของประเทศคู่ค้า จะยังคงสามารถการันตีคุณภาพสินค้าประมงของไทยให้เป็นที่มั่นใจของผู้บริโภคได้
กำลังโหลดความคิดเห็น