xs
xsm
sm
md
lg

ICAO นัดตรวจระบบรักษาความปลอดภัย “สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง”-ครม.ไฟเขียว พ.ร.บ.การบินพลเรือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.เห็นชอบ พ.ร.บ.การบินพลเรือนฉบับใหม่ รื้อกฎหมายล้าสมัย ปฏิรูปปัญหาการบิน เดินหน้าปลดธงแดง ยกเลิกอำนาจ รมว.คมนาคมออกไลเซนส์สายการบิน ด้าน กพท.เผย ICAO เตรียมตรวจระบบ “สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง” 13-21 ก.ค. ขณะที่เรียก 8 แอร์ไลน์หารือ พบยังไม่มีฉวยโอกาสขึ้นราคา

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 ก.พ. ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การบินพลเรือน (พ.ศ...) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการบินอย่างยั่งยืนและเป็นส่วนหนึ่งในการปลดธงแดง องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งเป็นการปฏิรูปกฎหมายการบินของประเทศไทยที่ยกเลิก พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 เดิม ยกร่างใหม่ตามโครงสร้างของกฎหมายและคำแนะนำของ ICAO เพื่อให้สอดคล้องกับข้อบังคับของ ICAO ซึ่งจะมีความกระชับมากขึ้น โดยโครงสร้าง พ.ร.บ.การบินพลเรือนจะเป็นกฎหมายหลัก มี 6 หมวด 338 มาตรา จากเดิมที่มีกว่า 500 มาตรา และจะใช้วิธีการออกกฎหมายลูก ประกาศกระทรวง และข้อบังคับต่างๆ ซึ่งหลังจากนี้จะส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

“การแก้ปัญหาการบิน ได้มีการปฏิรูปองค์กรและปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้แยกหน่วยกำกับดูแล (Regulator) คือสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และหน่วยปฏิบัติ (Operator) คือ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) แล้ว ส่วนการแก้กฎหมายใหม่ได้มีการปรับปรุงสิ่งที่ ICAO มีคำถามเพื่อความยั่งยืน” นายอาคมกล่าว

ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท.กล่าวว่า โครงสร้าง พ.ร.บ.การบินพลเรือนจะมีความทันสมัยและยืดหยุ่น ให้กฎหมายแม่มีอำนาจในการออกกฎหมายลูก และจะเขียนข้อบังคับเป็นคู่มือให้ผู้ประกอบการต่อไปด้วย กำหนดวิธีการบริหารการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ยกเลิก ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 พ.ศ. 2515 ซึ่งให้อำนาจ รมว.คมนาคมเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการการค้าขายการเดินอากาศ (AOL) เพียงผู้เดียว มาเป็นอำนาจของคณะกรรมการฯ ในการออก AOL แทน ทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น โดยมี 6 หมวด คือ คณะกรรมการการบินพลเรือน, การกำกับดูแลด้านความปลอดภัยด้านรักษาความปลอดภัยด้านอำนวยความสะดวก, การสอบสวนอุบัติเหตุ, การค้นหาช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย, การบังคับใช้กฎหมาย, บทลงโทษ ซึ่งในอนาคตจะไม่มีการแก้ พ.ร.บ.อีกแล้ว เพราะสามารถใช้วิธีการออกกฎหมายลูกแทน

***เตรียมรับ ICAO ตรวจระบบ “สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง 13-21 ก.ค.”

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ได้รับหนังสือจากทางองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) แจ้งว่า จะเข้ามาตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยสากล (Universal Security Audit Programme - USAP) ในระหว่างวันที่ 13-21 ก.ค. 60 โดยจะเป็นการตรวจสอบ กพท.ในฐานผู้กำกับดูแลส่วนของระบบรักษาความปลอดภัย ส่วนสนามบินนั้น ICAO แจ้งว่าจะตรวจสนามบิน 2 แห่ง คือ สุวรรณภูมิและดอนเมือง และอาจจะมีการตรวจสายการบินบางสาย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กพท.ได้มีการปรับปรุงและเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจ USAP และได้ตรวจสนามบินต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมแล้ว เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา

***กพท.เรียก 8 แอร์ไลน์หารือ พบไม่มีฉวยโอกาสขึ้นราคา

นายจุฬากล่าวถึงกรณีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน ซึ่งได้เรียก 8 สายการบินหารือเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าทางการบินไทย, ไทยสมายล์, กานต์แอร์ไม่ได้มีการปรับขึ้นราคา โดยสายการบินใช้วิธีการบริหารราคาในแต่ละที่นั่งแทน ส่วนนกแอร์, แอร์เอเชีย, ไลอ้อนแอร์, เวียตเจ็ต ได้ปรับค่าธรรมเนียมน้ำมัน (ฟิวเซอร์ชาร์จ) โดย กพท.ได้ตรวจสอบสมมติฐานต้นทุนพบว่าภาษีสรรพสามิตที่ปรับขึ้น 4 บาท รวมกับภาษีบำรุงท้องที่ 10% เฉลี่ยรวม 4.62 บาท คำนวนกับจำนวนผู้โดยสารซึ่งเครื่องบินสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) บรรทุกประมาณ 200 ที่นั่ง แต่ละเที่ยวจะมี Load Factor ประมาณ 80% หรือมีผู้โดยสาร 160 คน ต้นทุนที่เพิ่มประมาณ 100-200 บาทขึ้นกับ Load Factor หรือเฉลี่ยที่ 146 บาท/ที่นั่ง การที่สายการบินประกาศเพิ่มราคาที่ 150 บาท/ที่นั่ง จึงไม่เป็นการฉวยโอกาสและยังมีเพดานค่าโดยสารที่ควบคุมไว้ด้วย

สำหรับสายการบินที่ไม่ขึ้นราคานั้น จะใช้การบริหารค่าตั๋วโดยสารในแต่ละวัน ซึ่งในแต่ละเที่ยวบินจะมีราคาที่แตกต่างกัน เช่น ราคาถูก เดิมเคยมี 8 ที่นั่ง อาจจะปรับเหลือ 6 ที่นั่ง และอาจจะทำราคาที่มีความแตกต่างกันถึง 11-16 ขั้นในเที่ยวบินเดียวกัน เพื่อบริหารรายได้ให้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย

ส่วนสายการบินที่ปรับขึ้นค่าฟิวเซอร์ชาร์จนั้นยังเป็นสายการบินที่เก็บค่าโดยสารแยกจากฟิวเซอร์ชาร์จ ซึ่ง กพท.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังสายการบินแล้วว่า ตามมติคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ให้รวมเป็นราคาค่าโดยสารเดียวกันหมดแล้ว ดังนั้น ต่อไปสายการบินต้องปรับรวมค่าโดยสารเป็นราคาเดียว และบริหารจัดการต้นทุนแต่ละตัวให้เหมาะสมเพื่อกำหนดเป็นอัตราค่าโดยสาร ภายใต้เพดานค่าโดยสารที่มีการกำหนดไว้ ซึ่งการที่มีสายการบินประกาศบวกเพิ่มค่าภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 150 บาท/ท่าน/เที่ยวบินนั้น ในทางปฏิบัติแต่ละสายการบินต้องแข่งขันกันคงขายแพงไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น