กรมพัฒน์ฯ จ่อเพิกถอนเครื่องหมายรับรอง DBD Registered “เพย์ออล กรุ๊ป” หาก ธปท.ยันทำผิดจริง เหตุไม่ต้องการให้ชื่อเสียงเครื่องหมายเสียหาย พร้อมจี้เพย์ออลส่งงบการเงินปี 58 หลังพ้นกำหนดยังไม่ยอมส่ง ย้ำกรณีที่เกิดขึ้นไม่กระทบการส่งเสริมธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบและประสานข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรณีที่ ธปท.ได้ร้องทุกข์บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด ว่าประกอบธุรกิจให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มันนี) โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งหากพบว่ามีการกระทำผิดจริง กรมฯ จะดำเนินการเพิกถอนเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ DBD Registered ที่ให้กับเว็บไซต์ www.payallgroup.com เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2558 และแอปพลิเคชัน Payall เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2560 ต่อไป
“กรมฯ ยืนยันว่าการมอบเครื่องหมาย DBD Registered จะมอบให้กับบริษัทหรือเว็บไซต์ที่ทำธุรกิจถูกต้อง ทำตามกฎ กติกา และทำธุรกิจด้วยความโปร่งใส แต่ถ้าพบว่าทำธุรกิจไม่ถูกต้องก็จะพิจารณาเพิกถอน กรณีเพย์ออลก็เช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการติดต่อทำธุรกิจ”
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ตรวจสอบพบว่าเพย์ออล กรุ๊ป ยังไม่ได้นำส่งงบการเงินปี 2558 ซึ่งครบกำหนดส่งตั้งแต่ พ.ค. 2559 ที่ผ่านมา โดยกรมฯ ได้แจ้งเตือนให้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ซึ่งหากไม่นำส่งงบการเงินตามระยะเวลาที่กำหนดก็จะมีโทษปรับตามกฎหมาย โดยมีโทษปรับสูงสุดถึง 5 หมื่นบาท แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น
สำหรับเพย์ออล กรุ๊ป จัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2555 ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท มีกรรมการ 5 คน ได้แก่ นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์, นายภูมิพัฒน์ ประเสริฐวิทย์, นายธเนศ จัดวาพรวนิช, นางสุภัสฐิณี ศรีสะอาด และนายชนะศักดิ์ ศรีสะอาด ส่วนอำนาจกรรมการ นายรัฐภูมิ นายธเนศ นายภูมิพัฒน์ กรรมการ 2 ใน 3 คนนี้ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท มีที่ตั้งอยู่ที่ 230 ถนนรัชดาภิเษก แขวง/เขต ห้วยขวาง กรุงเทพฯ
น.ส.บรรจงจิตต์กล่าวว่า กรมฯ ยืนยันว่ากรณีที่เกิดขึ้นกับเพย์ออลไม่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการส่งเสริมการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) ของไทย เพราะธุรกิจอี-มันนีจะเป็นหนึ่งในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และเป็นธุรกิจที่มีส่วนช่วยสนับสนุนให้มีการใช้อี-คอมเมิร์ซได้อย่างสะดวก สมบูรณ์ ครบวงจรและแพร่หลาย แต่เพย์ออลก็เป็นเพียงแค่รายเดียวที่มีปัญหาในขณะนี้ ขณะที่รายอื่นๆ ที่ให้บริการอี-มันนีในไทย ยังมีถึง 30 รายที่คนทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซสามารถเลือกใช้ได้
ขณะเดียวกัน การส่งเสริมธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในภาพรวมก็ไม่ได้รับผลกระทบ ยังคงมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะภาครัฐได้ให้ความสำคัญและมีมาตรการในการสนับสนุนธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง และในส่วนของกรมฯ เองก็ได้ทำงานร่วมกับสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซทั้งรายเล็ก-รายใหญ่ รวมทั้งหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ เช่น สพธอ. เพื่อกำหนดมาตรการการส่งเสริมธุรกิจอี-คอมเมิร์ซไทยที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการให้คำปรึกษาธุรกิจอี-คอมเมิร์ซแก่ผู้ประกอบการไทยเพื่อให้สามารถก้าวสู่ตลาดระดับสากล
ปัจจุบันข้อมูล ธปท.แจ้งว่า มีธุรกิจอี-มันนีที่ต้องขออนุญาตจาก ธปท. แยกออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. บัญชี ก. ให้บริการเฉพาะของนิติบุคคลรายเดียว มีความเสี่ยงจำกัด เช่น บัตรเติมเงินศูนย์อาหาร กฎหมายยกเว้นให้ไม่ต้องขออนุญาต โดยต้องแจ้งให้ ธปท.ทราบเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการจำนวน 1 ราย คือ พีทีที ไอซีที โซลูชั่นส์
2. บัญชี ข. เป็นบริการอี-มันนีที่ซื้อสินค้าของนิติบุคคลหลายราย สินค้าหลายประเภท แต่ยังจำกัด เช่น บัตรรถไฟฟ้า โดยต้องขึ้นทะเบียนกับ ธปท.ก่อนให้บริการ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการจำนวน 7 ราย ได้แก่ จีพีซีเอ็ม กรุ๊ป, เชฟรอน, ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป, ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ, ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล และห้างสรรพสินค้าโรบินสัน
3. บัญชี ค. ที่ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท และเงินที่ประชาชนเติมมาต้องห้ามนำไปใช้อย่างอื่น ต้องฝากธนาคารไว้เท่านั้น เพื่อจะให้บริการภายใต้นิติบุคคลหลากหลายและสามารถซื้อสินค้าได้หลายประเภทภายใต้ระบบการจัดจำหน่ายและให้บริการเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 22 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, กรุงไทย, กรุงศรีอยุธยา, กสิกรไทย, ทหารไทย, ทิสโก้, ไทยพาณิชย์, สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด, ทรูมันนี่, ทีทูพี, ทูซีทูพี พลัส, ไทยสมาร์ทคาร์ด, บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม, เพย์สบาย, ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส, แรบบิท-ไลน์ เพย์, เอ็มโอแอล เพย์เมนท์, แอดวานซ์ เมจิค การ์ด, แอดวานซ์ เอ็มเปย์, แอร์เพย์, ไอพี เพย์เมนท์ โซลูชั่น และเฮลโลเพย์