“กอน.” เคาะเดินหน้าลอยตัวราคาน้ำตาลทรายอิงตลาดโลก หวังเริ่มใช้ได้ในช่วง ต.ค.นี้ พร้อมยกเลิกระบบโควตา แต่กำหนดสำรองเพื่อความมั่นคงหรือ Food Security และเตรียมเปิดนำเข้าเสรีป้องกันการฮั้วราคาของผู้ผลิตในประเทศ
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ว่า กอน.ได้เห็นชอบหลักการการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายที่จะนำไปสู่การลอยตัวราคาอิงตลาดโลก และยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลทรายที่เดิมกำหนดโควตา ก., ข. และ ค.ไว้ แต่จะกำหนดปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศไว้ดูแลผู้บริโภค หรือ Food Security เท่านั้น คาดว่าจะนำไปสู่การนำร่องปฏิบัติได้ภายใน ต.ค.นี้ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
“หลักการดังกล่าวจะนำไปรายงานต่อบราซิลเพื่อยืนยันว่าไทยได้ดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตามที่ได้ตกลงไว้ จากก่อนหน้าที่บราซิลได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวหาไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายซึ่งตัวแทนและทีมกฎหมายของไทยจะเดินทางไปยังบราซิล 6-8 มี.ค.เพื่อให้ข้อมูลต่อบราซิล เนื่องจาก 10 มี.ค.บราซิลอาจหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาพูดคุยได้” นายสมชายกล่าว
นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า กอน.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่วมกันที่จะนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายโดยเป็นราคาอ้างอิงตลาดโลกที่จะนำเอาราคาตลาดโลกเฉลี่ยของเดือนที่ผ่านมา นำมาคำนวณราคาหน้าโรงงานเพื่อกำหนดรายได้เข้าระบบ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะทำหน้าที่กำหนดราคาขายปลีกที่อิงราคาตลาดโลกดังกล่าวที่จะต้องดูแลไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค
“คงเป็นหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ที่จะใช้กฎหมายในการดูแลไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค รวมถึงการยกเลิกให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมเพื่อนำไปสู่การลอยตัว หากพิจารณาจากราคาตลาดโลกขณะนี้แล้วราคาน้ำตาลทรายที่จะนำไปสู่การลอยตัวจะใกล้เคียงกับปัจจุบัน ยกเว้นว่าน้ำตาลตลาดโลกพุ่งพรวดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขณะนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีสุดแล้วที่จะลอยตัวราคาน้ำตาลเพราะราคาใกล้เคียงกับปัจจุบัน พร้อมกันนี้ยังจะมีการเปิดให้มีการนำเข้าน้ำตาลทรายแบบเสรีเพื่อป้องกันไม่ให้ราคาในประเทศสูงเกินไปถ้าสูงก็จะมีการนำเข้ามาถ่วงดุลได้” นายสมศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ได้เห็นชอบที่ยกเลิกระบบจัดสรรปริมาณน้ำตาลที่กำหนดเป็นโควตา ก.(บริโภคในประเทศ) โควตา ข.(ส่งออกผ่าน บ.อ้อยและน้ำตาลทรายไทย (อนท.) และโควตา ค.(ส่งออกที่เหลือ) แต่จะกำหนด Food Security ไว้เพื่อไม่ให้ขาดแคลนในประเทศที่จะกำหนดไว้ช่วงตั้งแต่ปิดหีบจนนำไปสู่การเปิดหีบใหม่โดยเน้นแต่ละเดือนจะต้องมีน้ำตาลทราย