ร.ฟ.ท.ยังไม่เปิดประมูลสายสีแดงอ่อน (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก 4.41 หมื่นล้าน เจอปัญหาเขตทางจำกัด หวั่นเปิดหน้าดินป่วนแน่ เหตุกระทบเดินรถไฟเข้าหัวลำโพงยังมีจำนวนมากอยู่ ผลพวงสถานีกลางบางซื่อล่าช้า จ่อแบ่งเฟสก่อสร้างลากยาวรอแอร์พอร์ตลิงก์
นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ รองผู้ว่าการ (กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟสายสีแดงอ่อน (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนความเหมาะสมของแบบและวิธีการก่อสร้างให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากสถานีกลางบางซื่อยังไม่เปิดใช้ จึงยังมีขบวนรถไฟวิ่งเข้าสู่สถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) เป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ในขณะที่มีพื้นที่เขตทางค่อนข้างจำกัด การก่อสร้างต้องเปิดหน้าดินเพื่อทำอุโมงค์ ซึ่งการก่อสร้างอาจจะกระทบต่อการเดินรถให้บริการประชาชนได้
ขณะเดียวกันจะต้องพิจารณาในส่วนของการใช้โครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ซี่งช่วงสถานีสามเสน-ยมราชมีทางวิ่งแบบคลองแห้ง (Open Trench and Cut & Cover Tunnel) ร่วมกัน อาจต้องก่อสร้างไปพร้อมกันเพื่อลดผลกระทบระหว่างการก่อสร้างให้น้อยที่สุด โดยจะมีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปเรื่องแบบและการก่อสร้างอีกครั้ง หากสรุปว่าจะต้องปรับแบบของสายสีแดงอ่อนหรือดำเนินการก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 ก.ค. 59 จะต้องเสนอ ครม.เพื่อทบทวนมติเดิมด้วย
“ปัญหาเขตทางที่มีจำกัด ระหว่างก่อสร้างจะส่งผลกระทบต่อการเดินรถไฟเข้าหัวลำโพงไม่ได้ ควรต้องสร้างไปพร้อมกับแอร์พอร์ตลิงก์หรือไม่ หรือให้สายสีแดงสร้างผนังอุโมงค์ไปก่อนทั้งหมด แบบนี้ต้องดูวงเงินค่าก่อสร้างว่ามีเผื่อไว้อย่างไร รวมถึงการแบ่งเฟสก่อสร้างเพื่อลดผลกระทบ การแบ่งสัญญาก่อสร้างจะเป็นอย่างไรจึงจะเหมาะสม”
ทั้งนี้ สายสีแดง (Missing Link) มี 9 สถานี แบ่งเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ (Elevated) 4 สถานี (พญาไท-มักกะสัน-รามคำแหง-หัวหมาก) โครงสร้างระดับใต้ดิน 2 ชั้น มี 3 สถานี( สามเสน-ราชเทวี-ยมราช) และโครงสร้างทางวิ่งระดับดิน (At Grade) มี 2 สถานี (ยศเส-หัวลำโพง) ซึ่งโครงการจะแก้ปัญหาจราจรจุดตัดทางรถไฟได้ตลอดแนวรวม 13 จุด ประกอบด้วย ประดิพัทธ์, เศรษฐศิริ, ระนอง, นครชัยศรี, ราชวิถี, ศรีอยุธยา, ยมราช, พระราม 6, พญาไท, ราชปรารภ, อโศก, รามคำแหง, ศรีนครินทร์
โดยตามแผนเดิมแบ่งการจัดจ้างออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 งานโยธา ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และบางซื่อ-มักกะสัน ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร วงเงิน 15,608 ล้านบาท สัญญาที่ 2 งานโยธา ช่วงมักกะสัน-หัวหมาก ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร วงเงิน 6,998 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟฟ้าวงเงิน 17,300 ล้านบาท โดยมีค่าที่ปรึกษาควบคุมงาน 2.7% ของวงเงินรวม (4.47 หมื่นล้านบาท)