เอกชน 48 รายยื่นประมูลซื้อข้าวสต๊อกรัฐรวม 2.03 ล้านตัน มูลค่า 1.85 หมื่นล้านบาท เตรียมพิจารณาก่อนชงประธาน นบข.อนุมัติ คาดสรุปได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ ส่วนเดือนหน้าเตรียมระบายข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม “ดวงพร” ยันกรณียึดอายัดทรัพย์ข้าวจีทูจีไม่มีเกียร์ว่าง กำลังดำเนินการเต็มที่ เผยล่าสุดดึง ปปง. ป.ป.ส.ช่วยสืบทรัพย์
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เปิดให้ยื่นซองเสนอราคาซื้อข้าวสารสต๊อกรัฐบาลปริมาณ 2.86 ล้านตัน โดยมีผู้ยื่นซองเสนอราคาทั้งหมด 66 ราย จากผู้ผ่านคุณสมบัติ 73 ราย ซึ่งหลังเปิดซองราคาพบว่ามีผู้เสนอราคาซื้อสูงสุดจำนวน 48 ราย ใน 185 คลัง ปริมาณ 2.03 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 70.98% ของปริมาณที่เปิดประมูลทั้งหมด มีมูลค่าที่เสนอซื้อประมาณ 1.85 หมื่นล้านบาท และชนิดข้าวที่มีผู้เสนอราคาซื้อมากที่สุดเป็นข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ปริมาณ 7.45 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วน 26.05% รองลงมาคือ ข้าวขาว 5% ปริมาณ 4.79 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วน 16.75%
ทั้งนี้ กรมฯ จะนำผลการเสนอราคาประมูลข้าวเสนอให้คณะทำงานพิจารณาระบายข้าวในวันที่ 21 ก.พ. 2560 และจะพิจารณาผู้ที่เสนอราคาสูงสุด จากนั้นจะนำผลสรุปที่ได้เสนอให้ประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาอนุมัติการขายต่อไป ซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดน่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน ก.พ.นี้
ส่วนในเดือน มี.ค. กรมฯ คาดว่าจะเปิดระบายข้าวในกลุ่มที่เหลืออีกประมาณ 5.3 ล้านตัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องระบายข้าวสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอุตสาหกรรม โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เพื่อพิจารณาโกดังที่จะนำมาเปิดประมูล รวมทั้งกำลังพิจารณาปริมาณที่จะนำมาเปิดระบายด้วยว่าควรจะมีปริมาณเท่าไร
สำหรับการระบายข้าวสต๊อกของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้มีการระบายออกไปแล้ว 8.7 ล้านตัน สามารถรับมอบข้าวได้แล้ว 7.7 ล้านตัน เหลืออีก 1 ล้านตัน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ อยู่ระหว่างการรับมอบข้าวตามสัญญา และอีกส่วนติดปัญหาด้านคุณภาพข้าว ทำให้รับมอบไม่ได้ ซึ่งในส่วนนี้สัปดาห์หน้าจะมีการประชุมร่วมกับ อคส. และ อ.ต.ก.เพื่อแก้ไขปัญหาให้จบโดยเร็ว
นางดวงพรกล่าวว่า กรณีการยึดอายัดทรัพย์นักการเมืองและข้าราชการ 6 ราย กรณีความเสียหายจากการขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) 2 หมื่นล้านบาท กรมฯ กำลังอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพราะเป็นเรื่องมีรายละเอียดมาก และเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ โดยล่าสุดได้รับความร่วมมือจากกรมที่ดิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่ให้คำแนะนำในด้านการสืบทรัพย์ ซึ่งทุกขั้นตอนดำเนินการด้วยความรอบคอบ ถูกต้องตามกฎหมาย และรักษาประโยชน์สูงสุดของรัฐ
“อยากให้สบายใจว่างานทุกอย่างจะเป็นไปตามขั้นตอน ไม่ต้องกังวลเรื่องเกียร์ว่าง ทำงานมา 38 ปีไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องดึงเรื่องไว้ แต่กระบวนการสืบทรัพย์มีขั้นตอนทางเทคนิคเยอะ ซึ่งกำลังทำอยู่ และที่สำคัญต้องถูกต้อง ชัดเจน แล้วกระบวนการทางกฎหมายได้ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่ามีระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่มีคำสั่งทางปกครองออกมา” นางดวงพรกล่าว