รถร่วมฯ ขสมก.รวมตัวยื่นหนังสือต่อ “นายกฯ” ขอให้ทบทวนแนวทางการโอนไปขึ้นตรงต่อกรมการขนส่งฯ ระบุปฏิรปรถเมล์ รื้อเส้นทางเพื่อแก้ขาดทุน ขสมก.ไม่เป็นธรรมกับเอกชน ซึ่งที่ผ่านมารถร่วมฯ แบกขาดทุนสะสมเพราะถูกคุมค่าโดยสารไม่เป็นไปตามต้นทุนจริงแต่ต้องอดทนบริการเพื่อประชาชนไม่เดือดร้อน เสนอถ่ายโอนรถร่วมฯ ในเส้นทางเดิมหรือใกล้เคียง คุมคุณภาพบริการตามมาตรฐานไม่ดีให้ออกจากระบบไป แต่รัฐต้องชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารที่ต่ำกว่าต้นทุนจริง
รายงานข่าวแจ้งว้า ช่วงเช้าวันนี้ (14 ก.พ.) ได้มีผู้ประกอบการรถร่วมโดยสารประจำทาง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ประมาณ 100 คน พร้อมด้วยรถโดยสาร 2 คัน รวมตัวที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ขอยื่นหนังสือต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อร้องขอความเป็นธรรมและขอคัดค้านในการพิจารณาแนวทางการถ่ายโอนรถร่วมบริการขึ้นตรงต่อกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยมีนายเชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นผู้แทนรับหนังสือร้องเรียน
นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ยกเลิกมติ ครม.เดิมเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2526 ทำให้ ขสมก.กลายเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่งและผู้ประกอบการรถร่วมเอกชนที่เคยทำสัญญากับ ขสมก.ต้องขอใบอนุญาตกับกรมการขนส่งฯ ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันด้านบริการในการเดินรถเมล์ ซึ่งรัฐต้องการปฏิรูปรถเมล์แก้ปัญหาเส้นทางทับซ้อน และไม่ครอบคลุมความต้องการของประชาชน รวมถึงคุณภาพ ความปลอดภัย ความสะดวกรวดเร็ว ภาครัฐต้องการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด
ขณะที่ขั้นตอนการถ่ายโอนรถร่วมฯ ไปอยู่กับกรมการขนส่งฯ ไม่ชัดเจน ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่น และเป็นการปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูแก้ปัญหาขาดทุนให้ ขสมก.เท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการรถร่วมฯ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจาก 1. เมื่อมีการปรับปรุงเส้นทางใหม่ มีทั้งยกเลิก มีเพิ่มใหม่ ขสมก.ได้สิทธิ์เลือกก่อน ส่วนรถร่วมฯ ต้องยื่นแข่งขัน 2. ไม่กำหนดอัตราค่าโดยสารที่ชัดเจน ตามต้นทุนปัจจุบันและอนาคตกรณีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ค่าแรง ค่าอะไหล่ปรับเพิ่ม ซึ่งกรมการขนส่งฯ กำลังจ้างสถาบันการศึกษาฯ ศึกษา
3. การยื่นแข่งขัน ไม่ใช่เส้นทางเดิม หากไม่ได้รับคัดเลือกเท่ากับหมดอาชีพ 4. การยื่นแข่งขันเชิงคุณภาพ ผู้ประกอบการเดิมขาดศักยภาพ เพราะปัญหาเรื้อรังที่ต้องแบกรับภาระขาดทุนมายาวนาน จากการที่รัฐควบคุมค่าโดยสารไม่เป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริง 5. ขณะนี้ผู้ประกอบการเป็นหนี้ค้างชำระ ขสมก.เกือบ 400 ล้านบาท ขสมก.มีเงื่อนไขชำระในปี 2561 ซึ่งเอกชนไม่สามารถชำระได้แน่นอนเพราะหนี้ค่าตอบแทนดังกล่าวไม่ได้เกิดจากเจตนา แต่ช่วงปี 2548-2550 ราคาน้ำมันดีเซลลอยตัว ต้นทุนผู้ประกอบการสูงมาก แต่กระทรวงคมนาคมไม่ให้ปรับค่าโดยสาร โดยให้ ขสมก.ยกเว้นค่าตอบแทนเพื่อช่วยเหลือ แต่ ขสมก.ไม่ดำเนินการตาม
นางภัทรวดีกล่าวว่า ขอให้กรมการขนส่งฯ นำเส้นทางที่ผู้ประกอบการยกเลิกสัญญา หรือ ขสมก.ยกเลิกสัญญามาเป็นสายนำร่องก่อนเพราะไม่มีผู้ประกอบการวิ่ง ประชาชนได้รับผลกระทบแต่กรมการขนส่งฯ ไม่รับข้อเสนอ แต่กลับไปเลือก 3 เส้นทางที่ยังไม่หมดสัญญา แต่อ้างใบอนุญาตเส้นทางหมดอายุ ขณะที่ยังมีเส้นทางอื่นๆ ที่ใบอนุญาตเส้นทางหมดอายุแต่ไม่เลือก และกลับต่ออายุใบอนุญาตให้อีก
ซึ่งในการให้บริการรถเมล์ผู้ประกอบการต้องลงทุนและต้องคำนึงถึงผลประกอบการทางธุรกิจเพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพบริการ โดยเสนอ 1. ขอให้รัฐจ่ายชดเชยให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่เลิกกิจการ (เหมือนในอดีตที่รัฐเคยซื้อธุรกิจของเอกชนให้ ขสมก. หรือเหมือนกับประเทศเกาหลีใต้) และให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าระบบกับกรมการขนส่งฯ 2. กรณีที่ไม่สามารถชดเชยได้ ขอให้ถ่ายโอนผู้ประกอบการรายเดิมขึ้นตรงต่อกรมการขนส่งฯ โดยอยู่ในเส้นทางเดิมหรือใกล้เคียงที่มีการปรับปรุงใหม่ โดยกำหนดระยะเวลาในการปรับปรุงคุณภาพ กำหนดค่าโดยสารให้คุ้มกับต้นทุนจริง ประชาชนได้ประโยชน์เพราะรถไม่มีการวิ่งแข่งแย่งรายได้ และควรใช้ระบบการจ้างวิ่ง เพราะผู้ประกอบการทุกรายรวมถึง ขสมก.จะได้รับรายได้ที่แน่นอน รวมถึงขอยกเลิกหนี้ค่าตอบแทนช่วงปี 2548-2550 ด้วย
“วันนี้ภาครัฐมีนโยบายปฏิรูปรถเมล์ กรมการขนส่งฯ ให้รถร่วมฯ เดิมโอนไปขึ้นตรงแล้วกำหนดอัตราค่าโดยสารให้คุ้มกับต้นทุนที่แท้จริง หากไม่มีก็จ่ายชดเชยให้ผู้ประกอบการเพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพการให้บริการ หากรถร่วมฯ ทำไม่ได้จึงให้ออกจากระบบ จะเป็นธรรมกว่า แต่นโยบายขณะนี้ไม่มีการสนับสนุนช่วยเหลือ รถร่วมฯ เดิม ซึ่งที่ผ่านมาต้องแบกรับการขาดทุนสะสมจากการช่วยเดินรถเพื่อประชาชนด้วยเช่นกัน จึงขอให้นายกฯ โปรดพิจารณาทบทวนตามที่ผู้ประกอบการเสนอเพื่อช่วยให้ได้มีอาชีพต่อไป” นายภัทรวดีกล่าว